Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 575 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 575” คืออะไร? 


“มาตรา 575” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 575 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 575” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 575 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2563
ม. ใช้รถกระบะคันเกิดเหตุไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่ง โดยให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปที่ป่าบุห้าร้อยบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวนพร้อมกับเจ้าหน้าที่อื่นด้วยและขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขับรถกลับไปที่หน่วยห้วยคำภู ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปและอยู่ที่หน่วยดังกล่าวคนเดียวจนถึงวันเกิดเหตุ ทั้งที่ ม. เบิกความว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว แต่กลับยินยอมให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปคันเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความผูกพันในหน้าที่เดิมอย่างไม่ขาดตอน พฤติการณ์แห่งคดีจึงบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงในการทำงานกับจำเลยที่ 2 อย่างไร เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หาได้มีผลผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสองด้วยไม่ เพราะการว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวอันถือเป็นการจ้างแรงงานนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 มิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ คำเบิกความของ ม. ที่เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 อยู่ที่หน่วยห้วยคำภูเพื่อรอขนย้ายสิ่งของเท่านั้น จึงขัดต่อพฤติการณ์ที่ ม. สั่งให้จำเลยที่ 1 นั่งรถกระบะคันเกิดเหตุไปยังบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวน กับสั่งให้ขับรถกระบะคันเกิดเหตุกลับไปที่หน่วย พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบยังไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น ตามคำสั่ง 96/2557 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้ ม. ใช้รถกระบะคันเกิดเหตุได้ตลอดเวลาที่ต้องปฏิบัติงาน ม. จึงมีอำนาจใช้และมีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบรถกระบะคันเกิดเหตุ การที่ ม. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะดังกล่าวไปที่หน่วยห้วยคำภู และอยู่ประจำที่หน่วยดังกล่าวเพื่อรอรับ ม. กับเจ้าหน้าที่อื่นพร้อมกับผู้ต้องหาที่ถูกจับ การขับรถกระบะคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 หาได้เป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปเบิกถอนเงินแม้เป็นธุระส่วนตัว และบริเวณที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในเขตทำการที่จำเลยที่ 2 รับผิดชอบ แต่การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปกลับเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับงานที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย ถือได้ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างปฏิบัติงานให้จำเลยที่ 2 นายจ้าง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 425
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 425, ม. 575


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4032/2561
เงินโบนัสไม่มีกฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องจ่ายเสมอไป หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินโบนัสหรือสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินโบนัส จึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนั้น จำเลยมีประกาศ เรื่อง เงินโบนัสประจำปี 2557 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินโบนัสว่า "1.2 กำหนดเวลาการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2557 ในวันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558..." และ "1.4 พนักงานจะต้องมีสถานภาพจนถึงวันที่จ่ายโบนัสประจำปี" โจทก์รับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวตลอดมา การที่จำเลยกำหนดให้มีการจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างก็เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ลูกจ้าง ตอบแทนการทำงานที่ผ่านมา และจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้จำเลยต่อไป หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2557 จึงเป็นไปตามหลักการบริหารองค์กรโดยทั่วไป ไม่เป็นการเอาเปรียบหรือเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ ทั้งมีข้อกำหนดถึงคุณสมบัติของลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสไว้ชัดแจ้งแล้ว จึงใช้บังคับได้และผูกพันโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 575


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3653 - 3654/2561
โจทก์ระบุว่าการกระทำของจำเลยร่วมเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด ว่าด้วยข้อบังคับการทำงาน พ.ศ.2552 ข้อ 22 (1) (2) (3) เมื่อโจทก์ระบุว่าจำเลยร่วมกระทำผิดตามข้อบังคับการทำงานดังกล่าว การลงโทษจำเลยร่วมจึงต้องใช้ข้อบังคับการทำงานอันเดียวกันซึ่งมีระบุถึงโทษทางวินัยไว้แล้วมาใช้บังคับแก่จำเลยร่วมตามข้อ 23 ซึ่งกำหนดโทษไว้ 5 ประเภท คือ ไล่ออก ปลดออก ให้ออก พักงาน และตักเตือนเป็นหนังสือ โจทก์จะนำโทษตัดเงินเดือน ตามระเบียบว่าด้วยการเจ้าหน้าที่ ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ ค่าชดเชย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ.2543 ข้อ 8.4 ซึ่งระบุให้ใช้ในกรณีเจ้าหน้าที่กระทำผิดวินัยมาใช้หาได้ไม่ เนื่องจากเป็นการลงโทษโดยนำระเบียบฉบับอื่นมาใช้ ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจอนุโลมนำระเบียบฉบับอื่นมาใช้บังคับแก่กันได้ หากให้โจทก์เลือกปฏิบัติเช่นนี้ได้จะเป็นผลเสียต่อความเป็นธรรมในการลงโทษผู้กระทำความผิดวินัย เพราะโจทก์สามารถหลบเลี่ยงหรือเลือกปฏิบัติในการลงโทษพนักงานคนใดตามความประสงค์ของโจทก์โดยการนำโทษเบามาลงกับการกระทำความผิดร้ายแรงได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจตัดเงินเดือนของจำเลยร่วม ต้องจ่ายเงินค่าจ้างที่ตัดไปคืนให้จำเลยร่วมตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 76, ม. 77
ป.พ.พ. ม. 575
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที