Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 574 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 574 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 574” คืออะไร? 


“มาตรา 574” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 574 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
              อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 574” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 574 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15107/2558
เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า "ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา" ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 383, ม. 574
ป.วิ.พ. ม. 142 (5)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551
สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษยน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบ
รถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใด ๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
แม้หนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นเพียงคู่ฉบับ และสัญญาค้ำประกันจะมิได้ติดอากรแสตมป์ แต่ตามคำให้การจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องกับโจทก์จริง โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดี
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 567, ม. 572, ม. 574
ป.วิ.พ. ม. 93
ป.รัษฎากร ม. 118


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า "คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่" ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลขึ้นไป คือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย เมื่อสำนักงานของโจทก์เป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้ ข้อตกลงที่ให้ฟ้องคดีที่ศาลแพ่งนั้น จึงขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่อาจใช้บังคับได้
สัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีตามสัญญาเช่าซื้อไปก่อนที่รถยนต์ที่เช่าซื้อจะสูญหาย เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วนอกจากโจทก์จะได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องรับผิดในความเสียหายหากต่อมาการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 217 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามที่สัญญาเช่าซื้อได้กำหนดไว้ และย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ เมื่อไม่ส่งคืนก็ต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อ จนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน แต่เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย โจทก์จึงเรียกค่าขาดประโยชน์ได้จนถึงวันที่รถยนต์สูญหายไป หลังจากนั้นโจทก์จะเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 217, ม. 391, ม. 574 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. ม. 4 (1)
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที