Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 569 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 569 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 569” คืออะไร? 


“มาตรา 569” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 569 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย “

ค้นหาได้ทุกเรื่อง : "บทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมาย" >> คลิก !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 569” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 569 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9535/2558
ผู้ร้องเป็นผู้ถูกอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลา หรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง และเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องที่มีการอายัด จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280, 311 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินของจำเลยที่ 2 มิได้อายัดที่ดินดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยที่ 2 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว สิทธิในเงินค่าเช่าที่ดินย่อมโอนไปยังบุคคลภายนอกนับแต่วันที่จดทะเบียนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับเงินค่าเช่าอีกต่อไป จึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 280, ม. 311
ป.พ.พ. ม. 569 วรรคสอง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2558
ป. พี่ชายผู้ร้องซื้อสิทธิการเช่าที่ดินที่จำเลยเช่ามาจาก ซ. แล้วได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับร้อยตำรวจเอก ย. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2528 มีระยะเวลาเช่า 15 ปี โดยทำสัญญาเช่ากัน 5 ฉบับ ฉบับละ 3 ปี มีกำหนดเวลาเช่าติดต่อต่อเนื่องกันไป พฤติการณ์ของคู่สัญญาที่ปฏิบัติเช่นนี้ จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ที่กำหนดให้การเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การเช่านั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียงสามปี โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเช่าเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 ย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของร้อยตำรวจเอก ย. ผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าเพราะสัญญาเช่าที่ดินนั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 และเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าสามปี ป. ผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินอยู่ โจทก์รู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วง ต้องถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 แม้ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2546 ผู้ร้องได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับร้อยตำรวจเอก ย. จำนวน 5 ฉบับ แต่ละฉบับมีกำหนด เวลาเช่า 3 ปี รวม 15 ปี ต่อจาก ป. พี่ผู้ร้องในเวลาภายหลังที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเช่ามาแล้ว โดยโจทก์นำสืบปฏิเสธว่ามิได้รู้เห็นยินยอม และคดีที่ร้อยตำรวจเอก ย. ฟ้องเรียกที่ดินคืนจากโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 745/2551 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่า ที่ดินเป็นของโจทก์ ร้อยตำรวจเอก ย. ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ทั้งถือว่าผู้ร้องอยู่ในที่ดินของโจทก์โดยอาศัยสิทธิของร้อยตำรวจเอก ย. ซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดินที่จะให้เช่าที่จะนำไปให้ผู้ร้องเช่าได้ เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์และยังคงใช้เป็นที่ตั้งบริษัท บ. อันเป็นกิจการระหว่างพี่น้องของผู้ร้องต่อเนื่องเรื่อยมาโดยผู้ร้องและบุตรผู้ร้องกับจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เช่นนี้ จึงฟังได้ว่า ผู้ร้องอยู่ในที่ดินซึ่งจำเลยเช่าจากโจทก์ในฐานะอาศัยสิทธิของจำเลย ผู้ร้องหามีอำนาจพิเศษอย่างใดที่จะอยู่บนที่ดินไม่ ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย บ้านเลขที่ 77/22 ของผู้ร้อง ย่อมต้องถูกรื้อถอนออกไปจากที่ดินตามคำพิพากษาตามยอม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 538, ม. 569, ม. 570
ป.วิ.พ. ม. 145


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990 - 991/2558
ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 808 ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจให้ตัวแทนช่วงทำการได้ เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนกับให้มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อกระทำการแทนได้ ดังนั้น บริษัท ซ. มีอำนาจตั้ง ข. เป็นตัวแทนช่วงให้ทำการฟ้องคดีแทนต่อไป แต่ ข. ต้องดำเนินการตามที่ได้รับมอบอำนาจด้วยตนเอง เนื่องจากตามหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุว่า โจทก์ให้อำนาจผู้รับมอบอำนาจช่วงตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนช่วงทำการแทนต่อไปอีกได้ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงมีข้อความว่า ให้ ข. มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อให้มีอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจช่วง ก็เป็นเรื่องนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ ข. ไม่มีอำนาจตั้งให้ อ. เป็นตัวแทนช่วงดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายมานั้นแทนตน อ. ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ร่วมเข้ามาเป็นโจทก์ในคดีนี้เพราะโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และ 549 อันเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเรื่องใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วมไม่ ดังนั้น แม้ฟ้องเดิมโจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมก็เข้ามาในคดีได้
แม้การเช่าของจำเลยถือเป็นการเช่าช่วงโดยชอบเพราะโจทก์ร่วมตกลงให้บริษัท ว. นำห้องเช่าพิพาทออกให้เช่าช่วงได้ แต่เมื่อโจทก์ร่วมกับบริษัท ว. ได้เลิกสัญญาเช่ากันแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในห้องเช่าพิพาทต่อไป เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เช่าช่วงย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าบริษัท ว. ผู้เช่าเดิม และเหตุที่ห้องเช่าพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมก็เป็นไปตามข้อตกลงการเช่า ไม่ใช่เป็นกรณีโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 จำเลยไม่อาจยกสัญญาเช่าช่วงขึ้นอ้างต่อโจทก์เพื่อครอบครองห้องเช่าพิพาทได้ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าพิพาทได้ แต่โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากตามคำร้องขอของโจทก์ร่วมมิได้ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 57 (2), ม. 57 (3), ม. 58 วรรคหนึ่ง
ป.พ.พ. ม. 477, ม. 549, ม. 569
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที