Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 566 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 566 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 566” คืออะไร? 


“มาตรา 566” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 566 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้ ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 566” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 566 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11843/2557
จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินของวัด ก. จากกรมการศาสนามีกำหนด 3 ปี เพื่อปรับปรุงและปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้าง ทำถนนและคูน้ำ โดยยกกรรมสิทธิ์ให้แก่กรมการศาสนา มิฉะนั้นกรมการศาสนามีสิทธิปรับเป็นรายวัน เมื่อทำการปรับปรุงและปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว กรมการศาสนาให้จำเลยมีสิทธิทำสัญญาเช่ามีกำหนด 30 ปี นับแต่กรมการศาสนาตรวจรับสิ่งปลูกสร้าง แต่จำเลยไม่ดำเนินการปรับปรุงและปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างตามสัญญา และภายหลังครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญาเช่า โจทก์ซึ่งรับโอนกิจการบริหารจากกรมการศาสนาหาได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยไม่ ส่วนจำเลยยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทเรื่อยมา ทั้งจำเลยยังชำระค่าเช่าที่ดินตลอดมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งทั้งกรมการศาสนาและโจทก์ต่างก็มีส่วนรับชำระค่าเช่าที่ดินในระหว่างนี้จากจำเลยด้วยโดยมิได้มีการเร่งรัดบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด การที่จำเลยยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว ถือเป็นการทำสัญญาเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา แสดงว่ากรมการศาสนาและโจทก์มิได้ถือเอาเงื่อนไขในสัญญาเช่าที่ดินเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเสียหายที่ไม่ได้ปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างและชำระค่าปรับได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 566, ม. 570


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2552
ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติว่า "เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้หรือไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท จากโจทก์เป็นเวลา 21 ปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2532 แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี คือวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เท่านั้น แต่หลังจากครบกำหนดดังกล่าวแล้ว จำเลยยังคงเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปอีกโดยโจทก์มิได้ทักท้วง จึงต้องถือว่าเป็นการเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ซึ่งโจทก์จะบอกเลิกสัญญาเช่าเสียเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามวิธีที่กำหนดไว้ในมาตรา 566 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาทภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 ตามใบตอบรับไปรษณีย์ การบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์จึงมีผลตามกฎหมายแล้ว จำเลยต้องออกไปจากตึกแถวพิพาท หาใช่โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 538, ม. 566, ม. 570


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6179/2551
โจทก์เป็นผู้มีสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุของกองจัดประโยชน์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง อาคารตึกแถวเลขที่ 231 โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าขณะยื่นฟ้องเดือนละ 2,000 บาท แม้โจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายนับแต่วันบอกเลิกสัญญาเดือนละ 10,000 บาท ก็เป็นค่าเสียหายอันเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ให้เช่าช่วงแต่มีเจตนาโอนสิทธิการเช่า เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาเช่าช่วงเป็นนิติกรรมอำพรางการโอนสิทธิการเช่าหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นนี้โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมิได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
สัญญาเช่าช่วงอาคารชั้นล่างบางส่วนมีข้อตกลงว่าเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา การเลิกสัญญาจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 566 สัญญาเช่าช่วงดังกล่าวมีข้อตกลงระบุชำระค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท ไม่ระบุวันที่ชำระค่าเช่าแน่นอน จึงต้องถือเอาวันสิ้นเดือนเป็นกำหนดชำระค่าเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 559 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงและจำเลยได้รับหนังสือวันที่ 4 สิงหาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 21 มีนาคม 2538 การบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงจึงชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 559, ม. 566
ป.วิ.พ. ม. 224
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที