Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 553 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 553 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 553” คืออะไร? 


“มาตรา 553” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 553 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 553” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 553 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6159/2551
เมื่อทรัพย์ที่เช่าคือโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายทั้งหลัง สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 เมื่อทรัพย์ที่เช่าสูญหายหรือเสียหายไปโดยสิ้นเชิง จึงไม่สามารถที่จะส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าได้ ดังนั้น คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า กระทำละเมิดเป็นเหตุให้โรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายถูกเพลิงไหม้ ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อปรากฏว่า คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่โจทก์ได้แต่งตั้งขึ้นได้ทำรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งแจ้งแก่ผู้ว่าการของโจทก์ระบุว่า ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในทางที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และจะต้องรับผิดในทางแพ่ง แต่เห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าจะต้องส่งมอบโรงงานมาตรฐานที่เช่าจากโจทก์คืนในสภาพเรียบร้อยเมื่อคืนไม่ได้แล้วต้องชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี
เหตุเกิดเพลิงไหม้โรงงานมาตรฐานของโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ การที่จำเลยไม่ดูแลให้ดีทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิด เว้นแต่ว่าจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เมื่อมิใช่เหตุสุดวิสัยและมิได้เกิดเพราะความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย จำเลยจึงปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/30, ม. 437 วรรคสอง, ม. 553, ม. 563, ม. 567


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 989/2549
อาคารที่ได้รับความเสียหายเป็นของ ส. ระหว่างเกิดเหตุได้ให้ บ. และ อ. เป็นผู้เช่า บ. และ อ. จึงเป็นผู้ทรงสิทธิการเช่ามีสิทธิที่จะใช้หรือได้รับประโยชน์ในอาคารที่เช่าตามสัญญาเช่า การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดที่พักอาศัยเป็นเหตุให้อาคารของ ส. ดังกล่าวโยกไหวและแตกร้าวเสียหายย่อมกระทบต่อสิทธิที่จะใช้หรือได้รับประโยชน์ในอาคารของ บ. และ อ. ผู้ทรงสิทธิการเช่า บ. และ อ. จึงเป็นผู้เสียหายที่ถูกกระทำละเมิด ส่วนโจทก์ที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับ ส. เจ้าของอาคารแต่อย่างไร การที่โจทก์ที่ 1 เข้ามาใช้อาคารดังกล่าวก็โดยอาศัยสิทธิการเช่าของ บ. และ อ. จึงเป็นเพียงบริวารของ บ. และ อ. เท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้อาคารจากจำเลยทั้งสอง
ตามสัญญาเช่ากำหนดให้ผู้เช่าต้องรักษาซ่อมแซมสถานที่เช่ารวมทั้งสิ่งตกแต่งและเครื่องอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยตลอดระยะเวลาเช่าด้วยทุนทรัพย์ของผู้เช่าเองนั้น หมายถึงการบำรุงรักษาตามปกติและซ่อมแซมเล็กน้อยเท่านั้น มิได้กำหนดให้ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมใหญ่แต่อย่างใด เมื่อได้ความว่าอาคารที่เช่าเสียหายมากยากที่จะซ่อมแซมให้กลับคืนดีได้ ต้องรื้อถอนและปลูกสร้างขึ้นใหม่และถึงแม้ว่าจะต้องทำการซ่อมแซมโครงสร้างของอาคารกับฐานรากบางส่วนและทำการหล่อเสาเพิ่มขึ้นรวมทั้งซ่อมแซมโครงอาคารภายนอก ส่วนความเสียหายภายในซึ่งมีมากได้รื้อออกแล้วก่อขึ้นใหม่ตามที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาก็ตาม ความเสียหายดังกล่าวก็เป็นกรณีร้ายแรงต้องซ่อมแซมใหญ่ซึ่งไม่ใช่หน้าที่และความรับผิดของผู้เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 553 หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่าที่จะต้องจัดการซ่อมแซมทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อให้โจทก์ที่ 2 ได้ใช้และได้รับประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการเช่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อ ส. เจ้าของอาคารที่โจทก์ที่ 2 เช่า แม้ ส. จะมีระเบียบปฏิบัติว่า ผู้เช่าจะต้องเป็นผู้ปลูกสร้างอาคารยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. แล้ว ส. จึงจะให้สิทธิในการเช่า ซึ่งทำให้โจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างอาคารขึ้นใหม่ ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ 2 สมัครใจเข้าทำนิติกรรมผูกนิติสัมพันธ์กับ ส. มิใช่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากจำเลยทั้งสอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 553
ป.วิ.พ. ม. 55


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1471/2548
ตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยระบุว่าเป็นการเช่าสำหรับบ้านเช่า เฟอร์นิเจอร์และของใช้ส่วนตัวตามที่ระบุในเอกสารแนบท้าย แสดงว่าการเช่าตามสัญญาครอบคลุมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ด้วย มิใช่เป็นการเช่าเฉพาะตัวบ้าน ซึ่งหากมีการต้องซ่อมแซมก็ต้องหมายรวมถึงการซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์และของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ ดังกล่าวด้วย
สัญญาเช่าที่ระบุว่า ผู้เช่าต้องบำรุงรักษาทรัพย์สินทั้งหมดประกอบเป็นสิ่งที่เช่าให้อยู่ในสภาพดีและเรียบร้อย เพื่อซ่อมสิ่งที่สึกหรอจากการใช้งานตามปกตินั้น หมายถึงข้อสัญญาที่ให้ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่าเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง ต้องบำรุงรักษา และทำการซ่อมแซมเล็กน้อย ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 553 บัญญัติไว้เท่านั้น มิได้หมายความว่าผู้เช่าจะต้องรับผิดซ่อมแซมทรัพย์ที่เช่าในทุก ๆ กรณี
สัญญาเช่าที่ระบุให้ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องชำระค่าไฟฟ้า น้ำประปา แก๊ส โทรศัพท์และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ทั้งหมดตามที่ถูกเรียกเก็บและต้องชำระค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดโดยผู้เช่าหรือครอบครัว แขก คนรับใช้ หรือสัตว์เลี้ยงของผู้เช่า ไม่มีข้อความตอนใดระบุให้เป็นข้อความรับผิดของผู้เช่าในการจัดการซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่เช่าแทนผู้ให้เช่า ทั้งรายการซ่อมแซมล้วนเป็นการซ่อมแซมใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาทรัพย์สินที่เช่าให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ อันเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ให้เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 547 มิใช่เป็นการบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเล็กน้อยอันจะตกอยู่ในความรับผิดของโจทก์ผู้เช่า จำเลยจึงเป็นฝ่ายต้องรับผิดในการซ่อมแซมดังกล่าวตามมาตรา 550
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 550, ม. 553
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที