Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 544 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 544 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 544” คืออะไร? 


“มาตรา 544” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 544 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า
              ถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ “

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 544” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 544 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11058/2559
สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญญา การเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 หากถือคุณสมบัติของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าตายให้สัญญาระงับ สัญญาเช่าต้องกำหนดระยะเวลาเช่าไว้มีกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเท่านั้น มิฉะนั้นฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ แม้การเช่าทรัพย์สินตามปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญ แต่คุณสมบัติผู้เช่านั้น ผู้ให้เช่าพิจารณาเพื่อมาตกลงทำสัญญาเช่ากัน เมื่อผู้ให้เช่ากับผู้เช่าตกลงทำสัญญาเช่ากันสัญญาก็ต้องเป็นสัญญา จึงไม่ต้องกลับไปพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้เช่าอีกจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามที่ตกลงไว้หรือตกลงทำสัญญาเช่ากันใหม่ แม้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 544 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองเป็นทายาทของ ผ. ผู้เช่าที่ดินพิพาท จึงมิใช่บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมรับโอนสิทธิการเช่าได้ เมื่อ ผ. ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสองมีกำหนดระยะเวลาเช่าสามสิบปี โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน กำหนดว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าเอาที่ดินที่เช่าไปให้เช่าช่วงได้ อันเป็นการตกลงยกเว้นมาตราดังกล่าวไม่ให้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่ให้เป็นสิทธิในทรัพย์สินให้โอนได้ให้เช่าช่วงได้ โดยผู้เช่าต้องชำระเงินล่วงหน้าสำหรับการเช่า 30 ปี เป็นเงิน 1,000,000 บาท กำหนดอัตราค่าเช่าสูงขึ้นทุกสิบปีตลอดระยะเวลาเช่า เป็นการถือกำหนดเวลาสามสิบปีตามที่จดทะเบียนไว้เป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ตกลงทำสัญญาเช่าโดยกำหนดระยะเวลาเช่ามีเพียงตลอดชีวิตของผู้เช่าหรือตกลงไว้ในสัญญาเช่าอันจดทะเบียนว่า ผู้เช่าถึงแก่ความตายให้สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อ ผ. ผู้เช่าถึงแก่ความตายจึงไม่ต้องมีการทำสัญญาเช่ากันใหม่ เนื่องจากตกลงทำสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาสามสิบปี ทั้งสัญญาเช่ายังกำหนดให้ผู้เช่าสามารถนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้บุคคลอื่นเช่าต่อได้ โจทก์ทั้งสองไม่ได้ถือเอาคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสองต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ผ. โดยตรง สิทธิการเช่าจึงไม่สิ้นสุดลง เมื่อสิทธิการเช่ายังไม่ครบกำหนดระยะเวลาเช่าที่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2559)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 538, ม. 544 วรรคหนึ่ง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 461/2552
ตามสัญญาแบ่งเช่าที่ดินมีกำหนด 30 ปี ข้อ 4 ที่ระบุว่าเช่าเพื่อปลูกสร้างตึกให้เช่าไม่มีเงินกินเปล่านั้น ต. ผู้ให้เช่าเดิมกับจำเลยทั้งสามไม่ได้กำหนดรายละเอียดและเวลาไว้ว่าจำเลยทั้งสามจะต้องปลูกสร้างตึกขึ้นจำนวนเท่าใดและในเวลาใด จึงต้องแปลความว่าเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสามที่จะปลูกสร้างตึกจำนวนเท่าใดและในเวลาใดก็ได้ หรือหากจะมีการตกลงกำหนดกันใหม่ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงของ ต. กับจำเลยทั้งสาม หาใช่ว่า ต. ฝ่ายเดียวจะเป็นผู้กำหนดเวลานั้นใหม่ได้ การที่โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ต. โจทก์ก็ต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ของ ต. มาด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะกำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสามปลูกสร้างตึกได้ฝ่ายเดียว การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสามดำเนินการปลูกสร้างตึกโดยอ้าง
ว่า บัดนี้ระยะเวลาการเช่าล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาถึง 8 ปีเศษ และจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญา และในเรื่องการให้เช่าช่วงนั้น ตามสำเนาหนังสือสัญญาแบ่งเช่าที่ดินมีกำหนด 30 ปี ระบุว่า ให้เช่าช่วงได้โดยไม่ได้มีข้อความระบุว่าต้องเป็นการให้เช่าช่วงตึกเท่านั้น จึงต้องแปลความหมายว่าในการเช่าที่ดินพิพาทนี้จำเลยทั้งสามมีสิทธินำที่ดินพิพาทไปให้เช่าช่วงได้ โดยอาจให้เช่าช่วงเฉพาะที่ดินหรือเมื่อมีการปลูกสร้างตึกก็นำตึกพร้อมที่ดินไปให้เช่าช่วงได้เช่นกัน การที่จำเลยทั้งสามยังไม่ได้ปลูกสร้างตึกและนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงจึงไม่ถือว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญาเช่าเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดตามสำเนาหนังสือสัญญาแบ่งเช่าที่ดินมีกำหนด 30 ปี
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสามนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้ง จำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์จึงเป็นข้อที่จำเลยทั้งสามมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 544, ม. 569
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10264/2550
หนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า นัดโอนสิทธิการเช่าภายใน 3 เดือน เมื่อปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2534 กำหนดโอนสิทธิการเช่าซึ่งต้องกระทำภายใน 3 เดือนนั้นก็จะครบกำหนดภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2534 การที่คู่สัญญากำหนดเวลาชำระหนี้ไว้เป็นการแน่นอนตามวันแห่งปฏิทินเช่นนี้ถือได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอน เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งสามมิได้โอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์อันเป็นกรณีที่ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถบังคับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วคือตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2534 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสามผิดนัดและโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12
แม้การโอนสิทธิการเช่าในกรณีนี้จะต้องได้รบความยินยอมจากผู้ให้เช่าก่อนก็ตาม แต่กำหนดเวลาของการชำระหนี้โดยการโอนสิทธิการเช่านั้นเกิดจากความตกลงระหว่างบุคคลเพียง 2 ฝ่าย คือ ผู้โอนกับผู้รับโอนซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาโอนสิทธิการเช่ามิได้มีส่วนในการกำหนดเวลาในการชำระหนี้ด้วยแต่ประการใด ดังนั้น ข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาตามสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทที่ระบุให้โอนสิทธิการเช่าภายใน 3 เดือน จึงมีผลบังคับได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/12, ม. 544
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท