“มาตรา 537 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 537” คืออะไร?
“มาตรา 537” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 537 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น“
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 537” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 537 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4210/2564
เมื่อโจทก์กับจำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกันโดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อจะประกอบธุรกิจโรงแรมในอาคารพิพาททั้ง ๆ ที่มีกฎหมายห้ามไว้เช่นนี้จึงเป็นการที่จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับโจทก์โดยมีวัตถุประสงค์ในมูลเหตุชักจูงใจเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาเช่าจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252เมื่อสัญญาเช่าเป็นโมฆะโจทก์จะมาเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ และเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจากจำเลยไม่ได้ ส่วนการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากสัญญาเช่าที่เป็นโมฆะจะต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทโดยมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันเป็นการผิดกฎหมาย จึงถือว่าการที่โจทก์จำเลยกระทำการชำระหนี้ตามสัญญาเช่าเป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ทั้งโจทก์และจำเลยหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 และเมื่อโจทก์กับจำเลยต่างก็กระทำการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย จำเลยจะมาฟ้องแย้งว่าโจทก์กระทำละเมิดหลอกลวงจำเลยด้วยการปกปิดความจริงในเหตุทั้งสาม ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างที่จำเลยนำสืบไม่ได้ ถือว่าเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 150, ม. 172 วรรคสอง, ม. 411, ม. 537
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 252
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4138/2564
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ตนเองมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาทดีกว่าโจทก์ แต่จำเลยกลับให้การต่อมาว่า โจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่าตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาปี 2555 โจทก์รับโอนที่ดินมาจากมารดา การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ จึงเห็นได้ว่าคำให้การในตอนต้นของจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่พิพาท ส่วนคำให้การในตอนหลังกลับยอมรับสิทธิของโจทก์เรื่องจำเลยไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ คำให้การของจำเลยจึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสองจำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ แม้ที่ดินส่วนนี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่ก็เพียงทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้น แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน การที่จำเลยเช่าที่ดินส่วนที่ไม่มีเอกสารสิทธิเนื้อที่ 23 ไร่ 96 ตารางวาจากโจทก์ โดยจำเลยยอมเสียค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนนี้ดีกว่าจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 537, ม. 1304, ม. 1367, ม. 1369
ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 177
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2562
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อก่อสร้างอาคารและดำเนินการจัดหาผลประโยชน์ และโจทก์ได้รับมอบสถานที่เช่าตามสัญญาแล้ว โดยข้อ 7 วรรคสอง กำหนดเป็นหน้าที่ของผู้เช่าต้องสำรวจศึกษาพื้นที่โครงการ ผู้บุกรุก ผู้ประกอบการเดิมที่อยู่ในพื้นที่เช่า หากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น การขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้ประกอบการเดิม รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ผู้เช่าต้องรับภาระในการดำเนินการและแก้ไข โดยเสียค่าใช้จ่ายด้วยทุนทรัพย์ของผู้เช่าเอง อันมีความหมายว่าหากต้องมีการฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้อยู่อาศัยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากสถานที่เช่า ผู้ให้เช่าให้อำนาจแก่ผู้เช่าหรือมอบหมายให้ผู้เช่าฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้อยู่อาศัยแทนผู้ให้เช่าได้ โดยผู้เช่าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้การก่อสร้างอาคารและการดำเนินการจัดหาประโยชน์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญา ถือได้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้โจทก์ผู้เช่ามีอำนาจฟ้องผู้บุกรุกที่ดินที่เช่า ฉะนั้น แม้จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและโจทก์ยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้รับมอบสถานที่เช่าจากผู้ให้เช่าแล้วไม่สามารถก่อสร้างอาคารได้เพราะจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินโดยไม่มีสิทธิ และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 537
ป.วิ.พ. ม. 55