“มาตรา 528 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 528” คืออะไร?
“มาตรา 528” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 528 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้นั้นมีค่าภาระติดพัน และผู้รับละเลยเสียไม่ชำระค่าภาระติดพันนั้นไซร้ ท่านว่าโดยเงื่อนไขอันระบุไว้ในกรณีสิทธิเลิกสัญญาต่างตอบแทนกันนั้น ผู้ให้จะเรียกให้ส่งทรัพย์สินที่ให้นั้นคืนตามบทบัญญัติว่าด้วยคืนลาภมิควรได้นั้นก็ได้ เพียงเท่าที่ควรจะเอาทรัพย์นั้นไปใช้ชำระค่าภาระติดพันนั้น
แต่สิทธิเรียกคืนอันนี้ย่อมเป็นอันขาดไป ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้มีสิทธิจะเรียกให้ชำระค่าภาระติดพันนั้น“
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 528” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 528 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9131/2551
แม้สัญญาให้ระหว่างโจทก์ผู้ให้กับจำเลยผู้รับได้กำหนดเงื่อนไขรายละเอียดไว้ในสัญญาโดยให้จำเลยปลูกบ้านและกรีดยางพาราในที่ดินของโจทก์พร้อมทั้งให้ส่งรายได้ส่วนแบ่งให้โจทก์อันเป็นการให้โดยมีค่าภาระติดพันก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิคงมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาคือโจทก์กับจำเลยเท่านั้นไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับสิทธิในที่ดินจากจำเลย เพราะไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสามได้ตกลงยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวไว้และอยู่รู้เห็นด้วยขณะทำสัญญาให้ดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อขณะจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องที่ 3 จำเลยยังเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 บัญญัติไว้ และไม่ใช่กรณีผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินจึงมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 โดยให้ผู้ร้องที่ 3 เข้าครอบครองเก็บเกี่ยวทำประโยชน์ในที่ดินได้ ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสามจึงได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่ายึดถือเพื่อตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบหักล้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงได้สิทธิครอบครองที่ดิน การครอบครองที่ดินของผู้ร้องทั้งสามจึงไม่ใช่ครอบครองที่ดินในฐานะบริวารของจำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 528, ม. 850, ม. 1336, ม. 1369
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3601/2542
โจทก์กู้เงินจาก ร. โดยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้ ร. ยึดถือไว้เป็นประกัน จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์เป็นเงิน 70,000 บาท และรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนมา ต่อมาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างราคา 500,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน เมื่อเปรียบเทียบแล้วราคาที่ดินพิพาทสูงกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์เมื่อ 3 ถึง 4 ปี ที่แล้วไม่น้อยกว่า 7 เท่า การที่โจทก์ให้ที่ดินพิพาทจึงถือไม่ได้ว่าเป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้ในการที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทน และการที่ ร. ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนจำนอง ไม่ใช่กรณีที่มีภาระเกี่ยวกับตัวที่ดินพิพาท การให้ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่การให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน จำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ยอมให้เงินโจทก์ซื้อยารักษาตัวอันเป็นการบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้และจำเลยที่ 1 ยังสามารถจะให้ได้ โจทก์จึงเรียกถอนคืนการให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3)
โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกถอนคืนการให้จากจำเลยที่ 1 ได้แต่เพียงผู้เดียว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 521, ม. 528, ม. 531 (3), ม. 1471 (3)
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2533
ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์มีสิทธิหักเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินค่าจ้างที่โจทก์จะจ่ายให้จำเลยที่ 1แต่ละงวดเพื่อเป็นประกันผลงาน แต่โจทก์มิได้หักเงินจำนวนนี้ไว้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันเงินจำนวนนี้ไว้กับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต้องรับผิดใช้ค่าปรับและค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันที่ทำไว้กับโจทก์ เพราะหากจำเลยที่ 2 ไม่เข้าค้ำประกันเงินจำนวนดังกล่าวแล้วโจทก์ก็จะหักเงินจำนวนนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 และโจทก์มีสิทธิที่จะนำเงินดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับค่าปรับและค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดแก่โจทก์.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 391, ม. 528, ม. 680