Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 523 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 523 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 523” คืออะไร? 


“มาตรา 523” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 523 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การให้นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 523” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 523 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2565
บันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง มีข้อความระบุไว้ในสาระสำคัญว่า โจทก์ทั้งสิบห้าตกลงถอนฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่พิพาทและถวายเงิน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์แก่วัดแก้วฟ้าทันทีที่ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในโครงการซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัดแก้วฟ้า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงมีโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้องเป็นคู่สัญญาระหว่างกัน โดยมีวัดแก้วฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งวัดแก้วฟ้ามีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาโดยตรงได้ แม้ผู้ร้องกับฝ่ายโจทก์จะไม่มีมูลหนี้ต่อกันและกรณีมิใช่สัญญาให้ที่ผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินดังกล่าวแก่วัดแก้วฟ้าจึงไม่ตกอยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 523 ทั้ง ส. ตัวแทนวัดแก้วฟ้าแถลงต่อศาลชั้นต้นในวันนัดพร้อมว่า วัดแก้วฟ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี หากจะให้วัดแก้วฟ้าชี้แนวเขตที่ดินเพื่อรับเงินดังกล่าว โดยยังไม่ทราบว่าจะนำเงินไปดำเนินการในกิจการใด ไม่สามารถกระทำได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 วัดแก้วฟ้ายื่นใบแจ้งความประสงค์ต่อศาลชั้นต้นขอรับเงินดังกล่าวซึ่งผู้ร้องวางไว้ อันเป็นการแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากบันทึกข้อตกลงซึ่งโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง ทำขึ้นระหว่างกัน สิทธิของวัดแก้วฟ้า ตามบันทึกข้อตกลงย่อมเกิดมีขึ้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรสำหรับที่ดินในโครงการที่กล่าวไว้ในบันทึกข้อตกลงซึ่งมีแนวเขตที่ดินที่ผู้ร้องประสงค์ให้วัดแก้วฟ้ามาชี้ระวังแนวเขตที่ดินด้วย เช่นนี้ ไม่ว่าผู้ร้องจะต้องรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 2626 และ 2627 ของผู้ร้องตามแนวตะเข็บที่ดินที่ติดกับลำรางสาธารณประโยชน์ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างที่ดินของผู้ร้องกับวัดแก้วฟ้าออกไปเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 49728 หรือไม่ก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในโครงการซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัดแก้วฟ้า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อันเป็นเงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงซึ่งระบุให้ผู้ร้องต้องถวายเงินแก่วัดแก้วฟ้า ผู้ร้องจึงต้องผูกพันและมีหน้าที่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ผู้ร้องหาอาจระงับสิทธิของวัดแก้วฟ้าโดยขอรับเงินที่วางไว้คืนไปจากศาลได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 375โจทก์ทั้งสิบห้า จำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง ทำบันทึกข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการถอนฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่พิพาทและถวายเงิน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์แก่วัดแก้วฟ้า ด้วยเจตนาให้มีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นสืบเนื่องจากบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบห้าในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์เพื่อให้เกิดสภาพบังคับตามบันทึกข้อตกลงได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 374, ม. 375, ม. 523


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 485/2553
แม้ในตอนบนของเอกสารจะมีข้อความว่า "หนังสือพินัยกรรม" แต่ไม่มีพยาน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรอง จึงไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย และหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า ข้าพเจ้า ล. หรือ ช. ได้ถวายที่ดินจำนวนประมาณ 15 ไร่ ให้วัดวังก์พงในปีที่วัดวังก์พงได้วางศิลาฤกษ์สร้างพระอุโบสถนั้น... เนื่องจากทราบว่าเอกสาร น.ส.3 ที่ได้ถวายได้สูญหายไปจากวัดวังก์พงเมื่อปี 2525 และยังติดตามไม่พบและในเอกสารยังมีชื่อของข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าจึงขอทำหนังสือฉบับนี้ยืนยันการถวายที่ดินแปลงดังกล่าวและหากข้าพเจ้าถึงแก่กรรมขอให้ถือหนังสือฉบับนี้เป็นพินัยกรรมยืนยันการถวายมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดวังก์พงต่อไป ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหนังสือยืนยันการยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งในปัจจุบันขณะทำหนังสือดังกล่าวจนถึงว่าหากถึงแก่กรรมก็ยังยืนยันยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ หนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหนังสือแสดงเจตนาของ ล. ที่ยืนยันว่ามีเจตนายกที่ดินพิพาทให้โจทก์มาตั้งแต่แรกจนถึงขณะทำหนังสือดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ล. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้วที่ดินพิพาทจึงเป็นธรณีสงฆ์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 521, ม. 523, ม. 1656


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8530/2544
แม้ข้อความในสัญญาที่จำเลยให้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์แก่โจทก์จะระบุว่าจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องวิทยุคมนาคมให้แก่โจทก์ผู้รับนับแต่วันทำสัญญา และโจทก์ได้รับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันทำสัญญานั้นจำเลยไม่ได้ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ ดังนั้น สัญญาให้ดังกล่าวจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 523 ซึ่งบัญญัติว่า การให้ย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ สัญญาให้จึงไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ทำในวันเดียวกันนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้จำเลยนำไปใช้ แม้ในสัญญาจะมีข้อความว่าจำเลยตกลงนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ไปติดตั้ง ณ หน่วยงานของจำเลย สัญญาเช่าก็ไม่สมบูรณ์เนื่องจากขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 546 ซึ่งกำหนดว่า ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่า ค่าเสียหายและบังคับให้จำเลยคืนวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 523, ม. 546
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที