“มาตรา 516 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 516” คืออะไร?
“มาตรา 516” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 516 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาเดิมคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด“
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 516” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 516 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2262/2564
จำเลยเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดที่ละเลยไม่ใช้ราคาค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง เมื่อได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม จำเลยซึ่งเป็นผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 เงินในส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดตามบทบัญญัติมาตรานี้ ถือว่าเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่เกิดจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.254/2553 ของศาลชั้นต้น ต้องตกอยู่ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางกับยึดหรืออายัดหรือยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 278 วรรคหนึ่ง (เดิม) แม้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ก็ต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้จัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าวหากมีการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหากมีเงินเหลืออยู่ในภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง (เดิม) บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยเพื่อดำเนินการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย โจทก์หามีสิทธิเรียกร้องเอาเป็นส่วนของตนได้โดยลำพังไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยหรือบังคับคดีจากจำเลยแล้ว ให้หักเป็นค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี (ถ้ามี) แก่โจทก์ แล้วส่งคืนเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.254/2553 ของศาลชั้นต้น เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าวต่อไป เป็นการพิพากษาไปตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมาย หาได้พิพากษานอกคำฟ้องไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 516
ป.วิ.พ. ม. 278 วรรคหนึ่ง (เดิม), ม. 322 วรรคสอง (เดิม)
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2563
ตามคำฟ้องของโจทก์เรียกเงินราคาในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาด เนื่องจากจำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเอาที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำ และได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ และให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 ซึ่งคดีนี้หลังจากจำเลยประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงสุดแล้วละเลยเสียไม่ชำระราคาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำอีกถึงสองครั้ง เพราะผู้ประมูลครั้งที่สองก็ไม่ได้ชำระราคาและถูกริบมัดจำเช่นเดียวกัน จนกระทั่ง จ. เข้าประมูลซื้อและชำระราคาครบถ้วนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2549 การขายทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันดังกล่าว จึงต้องถือว่าวันที่ผู้สู้ราคาสูงสุดได้ชำระราคาครบถ้วนเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ได้เป็นต้นไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/12, ม. 193/30, ม. 516
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6458/2559
แม้มูลเหตุคดีนี้เกิดจากการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินและได้รับเงินน้อยลงจากการกระทำของจำเลย อันเป็นการกระทบต่อสิทธิที่พึงมีพึงได้ของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการที่จะบังคับเอาเงินส่วนที่ขาดไปจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ได้ หาใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ทอดตลาดเท่านั้นที่จะบังคับเอาจากจำเลย ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว ทั้งที่ประชุมเจ้าหนี้ยังมีมติไม่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการเรียกเงินส่วนต่างดังกล่าวจากจำเลย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการเรียกเงินส่วนต่างจากจำเลยเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และเมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
ในส่วนที่จำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินโดยหลงเชื่อว่าที่ดินทั้งสามแปลงมีเนื้อที่ติดต่อเป็นแปลงเดียวกันและมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะทุกแปลง อันเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยยกปัญหาข้อนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า ตามประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หากจำเลยมีข้อสงสัยประการใดหรือประสงค์จะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินทั้งสามแปลงว่าเป็นที่ดินมีเนื้อที่ติดต่อเป็นแปลงเดียวกันและมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะทุกแปลงหรือไม่ จำเลยสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวจากทางราชการที่เกี่ยวข้องได้โดยง่าย การที่จำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินครั้งแรกแล้ว จำเลยจึงเพิ่งตรวจสอบที่ดิน นับว่าเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบก่อนเข้าประมูลซื้อที่ดิน จำเลยจึงไม่อาจอ้างความสำคัญผิดในที่ตั้งของที่ดินมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินทั้งสามแปลงเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ไม่ตกเป็นโมฆะ จำเลยต้องรับผิดในจำนวนเงินส่วนต่างจากการขายทอดตลาดที่ดินแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 4 (1), ม. 55
ป.พ.พ. ม. 516