Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 513 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 513 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 513” คืออะไร? 


“มาตรา 513” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 513 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อใดผู้ทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ ผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์สินจากการทอดตลาดได้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 513” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 513 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1025/2558
ผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ได้รับโอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 และได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียในการบังคับคดี การที่ทนายความผู้ร้องนำสำเนาคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์พร้อมหมายนัดไปส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดย ณ. เจ้าพนักงานบังคับคดีได้สั่งในหมายนัดว่า ทราบ รวม และรอฟังคำสั่งศาล แสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้วว่าผู้ร้องได้ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ แม้จะไม่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาด แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับในวันขายทอดตลาด มีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวและเสนอซื้อในราคา 1,620,000 บาท ต่ำกว่าราคาประเมินของ เจ้าพนักงานบังคับคดีที่ประเมินไว้ในราคา 3,240,000 บาท และต่ำกว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนมาก เจ้าพนักงานบังคับคดีควรที่จะถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 513 เพื่อรอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ก่อนจึงดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับขายทอดตลาดในวันรุ่งขึ้นโดยไม่รอฟังคำสั่งศาล เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีและต้องคุ้มครองลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ให้ต้องเสียหายโดยต้องไม่ขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินสมควร จนลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรับภาระหนักขึ้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดในราคา 1,620,000 บาท โดยมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว แม้จะไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองในราคาที่ต่ำเกินสมควรโดยไม่ให้โอกาสผู้ร้องซึ่งเล็งเห็นได้ว่าจะเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้ามารักษาประโยชน์ของตน และเห็นได้ว่าต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 513 และ ป.วิ.พ. มาตรา 308 เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 513
ป.วิ.พ. ม. 296 วรรคสอง
พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ม. 7


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2550
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์เป็นใจความสำคัญว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศนัดขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีรวม 5 ครั้ง และมีหมายแจ้งวันนัดให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบกำหนดนัดแล้วทุกครั้ง วันนัดขายทอดตลาดวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 เดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีตามกำหนด แต่ไม่เข้าไปติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 คำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบกำหนดนัดขายทอดตลาดโดยชอบและเดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีตามกำหนดนัดแล้ว แต่ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่สอบถามเจ้าพนักงานบังคับคดีเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 อันเป็นความบกพร่องของผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 เอง โจทก์และจำเลยที่ 2 จะอ้างความเข้าใจผิดคิดว่าไม่มีการขายทอดตลาดดังที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยไม่ได้ คำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

การดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องประกาศขายอย่างเปิดเผย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้าสู้ราคา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความให้ได้ราคาสูงสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 513 ไม่ใช่ขายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ปิดประกาศแจ้งการขายไว้ที่หน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจังหวัดจันทบุรีต่างไปจากการขายทอดตลาดในคดีอื่น ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นที่เปิดเผยตามวิถีทางที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจเข้าสู้ราคาและจำนวนผู้เข้าสู้ราคาซึ่งอาจต้องถูกจำกัดให้น้อยลงขัดต่อเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดที่ต้องเปิดโอกาสให้มีการเข้าสู้ราคากันโดยเปิดเผยเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 308 แม้การขายทอดตลาดนัดนี้จะเป็นการขายครั้งที่ 4 ซึ่งตามคำสั่งกรมบังคับคดีกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถือเอาราคาที่ผู้เข้าสู้ราคาเสนอสูงสุดซึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของราคาประเมินหรือราคาของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการกำหนดราคาทรัพย์แล้วแต่กรณี เป็นราคาที่สมควรขาย แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำสั่งหรือคำพิพากษา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 513
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคหนึ่ง, ม. 296 วรรคสอง, ม. 308


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5434/2543
การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตัวจำเลยในคดีอาญา ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ที่ใช้ บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้บัญญัติว่า ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้อง เสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น แล้วแต่กรณีอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะ ฯลฯ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันโดยอ้างว่า การขายทอดตลาดดำเนินการไปโดยไม่ชอบ จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาร้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง
เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินในวันที่ 5 มิถุนายน 2539 ผู้ซื้อทรัพย์ซื้อได้ในราคา 300,000 บาท ผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีครบถ้วนแล้ว และได้จดทะเบียนรับโอนสิทธิครอบครอง ที่ดินดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2539 ตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2539 ซึ่งได้รายงานว่ามีการทำบัญชีแสดงรายการรับและจ่ายเงินในคดีนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งในรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 เดือนเดียวกันว่า ส่งเงินจำนวน 200,000 บาท ไปยังศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกนายประกันรับเงินที่เหลือคืน เอกสารในสำนวนการยึดทรัพย์ถัดมาปรากฏเป็นสำเนาหมายแจ้งผู้ร้องให้ไปตรวจรับรองบัญชีแสดงรายการรับและจ่ายเงินและรับเงินส่วนที่เหลือจำนวน 83,231 บาทและมีปรากฏรายงานการส่งหมายของเจ้าหน้าที่ว่าได้จัดการส่งหมายแจ้ง ดังกล่าวให้ผู้ร้องแล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 โดยวิธีปิดหมาย นอกจากนี้ยังปรากฏสำเนาหนังสือถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่ลงวันที่ แต่ลงเดือนพฤศจิกายน 2539 ว่าขอส่งบัญชีแสดงรายการรับและจ่ายเงินจำนวน 1 ฉบับ และเช็คธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 200,000 บาท เป็นเงินค่าปรับนายประกัน และลงชื่อหัวหน้าสำนักงานบังคับคดี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีของ ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถือเป็นเจ้าพนักงานของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การยึดหลักประกัน การขายทอดตลาด ตลอดจนการรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของ ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดและรับเงินที่ได้ จากการขายทอดตลาดจัดทำบัญชีส่วนแบ่งเสร็จสิ้นแล้ว และรายงานศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พร้อมบัญชีส่วนแบ่ง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2539 ว่าส่งเงิน 200,000 บาท ไปยังศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียก นายประกันรับเงินส่วนที่เหลือคืน ถือได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งดังกล่าว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รับเงินจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วหรือไม่ เพราะเป็นกระบวนการภายในของศาลเอง ผู้ร้องมายื่นคำร้องคดีนี้ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 อันเป็นเวลาภายหลังการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 513
ป.วิ.อ. ม. 15
ป.วิ.พ. ม. 296, ม. 308
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที