Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 509 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 509 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 509” คืออะไร? 


“มาตรา 509” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 509 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การขายทอดตลาดย่อมบริบูรณ์ เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยเคาะไม้ หรือด้วยกิริยาอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด ถ้ายังมิได้แสดงเช่นนั้นอยู่ตราบใด ท่านว่าผู้สู้ราคาจะถอนคำสู้ราคาของตนเสียก็ยังถอนได้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 509” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 509 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17393/2555
การยึดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ย่อมครอบไปถึงดอกผลนิตินัยของที่ดินนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง ค่าเช่าที่ดินที่จำเลยต้องชำระตามสัญญาเช่า ถือเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินที่ถูกยึด ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในการเรียกค่าเช่าในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและต้องรับไปซึ่งภาระตามสัญญาเช่าที่ต้องให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เช่าตามข้อสัญญาเช่นกัน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 509 บัญญัติว่า การขายทอดตลาด แม้จะบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้ผู้สู้ราคาไม่อาจถอนคำสู้ราคาของตนได้เท่านั้นและเมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 515 และมาตรา 516 ที่บัญญัติว่า ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อมีการขายบริบูรณ์ และถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาก็ให้เอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาดซ้ำอีกครั้ง เมื่อในวันขายทอดตลาดที่ดินครั้งที่ 6 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเสนอราคาสูงสุด และในวันเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีกับได้วางเงินมัดจำชำระค่าที่ดินบางส่วน และในเวลาต่อมาประมาณเกือบหนึ่งเดือนผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระส่วนที่เหลือ การทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ชำระส่วนที่เหลือ
การซื้อที่ดินเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 456 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์จึงเพียงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ขอรับเงินค่าที่ดินบางส่วนคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการที่ผู้ซื้อทรัพย์ยังไม่ได้ชำระราคาครบถ้วนและยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ การซื้อขายที่ดินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาถึงกำหนดชำระค่าเช่าที่ดินดังกล่าวงวดที่ 5 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่างวดที่ 5 และงวดต่อ ๆ ไปตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวได้จนกว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาครบถ้วนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 304 วรรคสอง
ป.พ.พ. ม. 456, ม. 509, ม. 1300


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2550
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควร เป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขใหม่ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่โดย พ.ร.บ. นี้มิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด จึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที
การขายทอดตลาดที่มีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แต่เป็นประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 309 ทวิ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นตามวรรคสองของมาตรานี้เป็นที่สุด กรณีมิได้มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันกันในการประมูลราคา ดังนั้น แม้การขายทอดตลาดทรัพย์สินคดีนี้จะมีผู้ซื้อทรัพย์เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปได้โดยชอบ
ป.วิ.พ. มาตรา 306 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่น คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบก็ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 509
ป.วิ.พ. ม. 296 วรรคสอง, ม. 306, ม. 309 ทวิ


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2546
ผู้ร้องกับจำเลยร่วมกันซื้อที่ดิน 2 แปลง โดยตกลงแบ่งการครอบครองเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจำเลยได้ส่วนแบ่งทางด้านทิศตะวันตก ส่วนผู้ร้องได้ส่วนแบ่งด้านทิศตะวันออกคนละครึ่ง อันเป็นข้อตกลงภายในระหว่างกันเองว่ามีการแบ่งแยกการครอบครองอย่างไรเท่านั้น หาได้มีการแบ่งแยกกันครอบครองอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนไม่ เมื่อจำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองต่อโจทก์ ผู้ร้องก็ทราบและให้ความยินยอมเป็นหนังสือ ทั้งเมื่อมีการจดทะเบียนจำนองนอกจากผู้ร้องจะไม่ให้ปากคำใด ๆ แล้ว ยังไม่ส่งมอบเอกสารการแบ่งแยกการครอบครองที่ผู้ร้องกับจำเลยทำต่อกันแก่เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อทราบ ซึ่งนับว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้ร้องอย่างมาก ฉะนั้น การที่จะให้โจทก์เรียกเอกสารประกอบอื่นใดที่อาจมาบั่นทอนกรรมสิทธิ์ของหลักประกันนั้นย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์พึงกระทำ เว้นแต่ผู้ร้องจะเสาะหามาแสดงเอง กรณีต้องถือว่าผู้ร้องและจำเลยได้ร่วมกันครอบครองที่ดินทุกส่วนทั้งสองแปลงอันโจทก์มีสิทธิยึดเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้กันส่วนของตนในที่ดินทั้งสองแปลงออกก่อนขายทอดตลาด
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 509, ม. 702
ป.วิ.พ. ม. 287
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที