Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 492 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 492 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 492” คืออะไร? 


“มาตรา 492” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 492 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี
              ในกรณีที่ได้วางทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งให้ผู้รับไถ่ทราบถึงการวางทรัพย์โดยพลัน โดยผู้ไถ่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๓๓๓ วรรคสาม “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 492” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 492 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16097/2557
ได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการขายฝาก โจทก์ทั้งสองพยายามติดต่อจำเลยแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปฏิเสธบอกปัดไม่ยอมรับการไถ่ถอนหรือไม่ยอมรับชำระหนี้อยู่ในตัว กรณีจึงมีเหตุให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 331 เมื่อโจทก์ทั้งสองวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา โดยมีหลักฐานแคชเชียร์เช็คลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 จ่ายสำนักงานบังคับคดีจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งเป็นวันที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอน นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 โจทก์ที่ 1 นำเงินมาไถ่ถอนที่ดินตามสัญญาขายฝากซึ่งครบกำหนดแล้ว แต่จำเลยไม่มาตามนัดและไม่สามารถติดต่อได้ ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน การแจ้งความเป็นหลักฐานระบุเวลา 17.15 นาฬิกา อันเป็นเวลาที่ทางราชการปิดทำการแล้ว จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสำนักงานบังคับคดีและวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ทั้งสองนำแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวที่สั่งจ่ายแก่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา ไปวางทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีโดยมีบันทึกรายงานเจ้าพนักงานเป็นหลักฐาน ยิ่งเป็นข้อชี้ชัดว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินสินไถ่ พร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาขายฝากในวันครบกำหนดจริง พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ถอนได้ภายในกำหนดแล้ว ส่วนการจะนำแคชเชียร์เช็คไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์หรือวางแล้วถอนคืนไป ก็มิใช่กรณีที่นำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้มีสิทธิไถ่คืน การวางทรัพย์เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้ขายฝากมีเงินสินไถ่มาทำการไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากกับผู้รับซื้อฝาก
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้" ในกรณีวางทรัพย์บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้โจทก์ทั้งสองผู้ไถ่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้ให้แก่จำเลยผู้ซื้อฝากพร้อมกับสินไถ่ที่โจทก์ทั้งสองวางแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 10,000,000 บาท อันเป็นสินไถ่เท่าที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก จึงเป็นการใช้สิทธิไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากโดยชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 331, ม. 492 วรรคหนึ่ง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19332/2556
โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินจากจำเลยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 อันเป็นวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ดินซึ่งขายฝาก โดยนำเงินสินไถ่เพื่อไปชำระให้แก่จำเลยที่บ้าน แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงอ้างว่าหมดเวลาราชการแล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากต่อจำเลยภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝากโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ประกอบมาตรา 498 แล้ว จำเลยต้องรับการไถ่ แม้โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินนั้นในเวลา 18 นาฬิกา ซึ่งล่วงพ้นเวลาราชการแล้ว และไม่สามารถจดทะเบียนการไถ่ขายฝากที่ดินในวันดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นต่อจำเลยภายในกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาขายฝากโดยชอบแล้ว จึงมีผลผูกพันใช้ยันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 492, ม. 498


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5873/2550
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ผู้ไถ่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากก็ต่อเมื่อได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้ว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองและรับสินไถ่ตามคำขอบังคับของผู้ร้อง แต่เมื่อผู้ร้องยังไม่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ กรรมสิทธิ์จึงยังไม่ตกเป็นของผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ดินพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 492
ป.วิ.พ. ม. 288
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที