Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 491 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 491 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 491” คืออะไร? 


“มาตรา 491” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 491 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ “

 

ค้นหาได้ทุกเรื่อง : "บทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมาย" >> คลิก !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 491” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 491 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1873/2565
โจทก์เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทอันเป็นเอกสารสำคัญไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน ซึ่งอยู่ภายในบ้านชั้นล่างโดยไม่ได้ล็อกกุญแจ ย่อมง่ายต่อการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มาใช้บริการร้านเสริมสวยของ บ. และ บ. หยิบฉวยโฉนดที่ดินพิพาทไปได้โดยง่าย ถือเป็นการเก็บโฉนดที่ดินพิพาทไว้ในที่ไม่ปลอดภัย อันเป็นการไม่ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาอย่างวิญญูชนพึงกระทำ การที่ บ. ลักโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ไปทำการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลย ถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์โดยตรง เมื่อจำเลยมิได้ล่วงรู้ว่า บ. ลักโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ไปทำการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างความสุจริต ฝ่ายที่ประมาทเลินเล่อย่อมเสียเปรียบและต้องรับผลต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่อาจยกเอาความประมาทของตนมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อจำเลยได้ สัญญาขายฝากดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 6, ม. 491


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3692/2564
พยานโจทก์และพยานจำเลยเบิกความยันกันอยู่ว่าโจทก์จำนำหรือขายฝากรถยนต์ ยากที่รับฟังว่าฝ่ายใดเบิกความตามจริง แต่ตามคำเบิกความของโจทก์และ ส. ได้ความว่า โจทก์ชำระหนี้จำนำรถยนต์แก่จำเลย 5 ครั้ง และ ส. เบิกความตอบคำถามติงทนายโจทก์ว่าโจทก์และจำเลยเข้าใจตรงกันว่าให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน นอกจากนั้น จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์รับว่า โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยและข้อความสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์เป็นการติดต่อระหว่างโจทก์และจำเลย โดยข้อความดังกล่าวระบุว่าเป็นการโอนเงินชำระดอกเบี้ยไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าซื้อรถยนต์คืนจากจำเลย ตามพฤติการณ์จึงเชื่อว่า โจทก์ส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้อันเป็นการจำนำรถยนต์ อีกทั้งการขายฝากนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากตั้งแต่เมื่อทำสัญญาขายฝาก แต่ตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ปรากฏว่าจำเลยหักเงินที่จ่ายให้โจทก์เป็นค่าจอดรถยนต์และค่าดูแลรักษาไว้ด้วย ส่อแสดงว่าจำเลยถือว่ารถยนต์ดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และตามสำเนาสัญญาขายฝากรถยนต์ มีข้อความว่า “ข้อ 1 ผู้ขายตกลงขายฝากและผู้ซื้อตกลงซื้อรถยนต์...ในราคา 90,000 บาท...ผู้ขายได้รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว จึงได้มอบรถพร้อมใบคู่มือจดทะเบียน...ให้แก่ผู้ซื้อไว้เพื่อกระทำการโอนรถได้หากพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนแล้ว ข้อ 2 ผู้ขายฝากจะกระทำการไถ่รถในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ทำสัญญามิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิ์ ข้อ 6 ถ้าในระหว่างสัญญาขายฝาก...จะด้วยเหตุผลใดก็ตามทำให้รถที่ขายฝากไม่สามารถที่จะกระทำการโอนได้ในภายหลังที่ผู้ขายฝากสละสิทธิ์ไถ่รถ...ผู้ขายฝากจะต้องคืนเงินที่รับไปตามข้อ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ย...ให้แก่ผู้ซื้อ...” ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า โจทก์จะยอมให้รถยนต์ตกไปยังจำเลยก็ต่อเมื่อโจทก์ไม่ชำระเงิน 90,000 บาท คืนแก่จำเลยเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตกไปยังจำเลยทันทีโดยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์อาจไถ่รถยนต์นั้นคืนได้ในภายหลัง อันจะต้องด้วยลักษณะของสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาผูกพันตามสัญญาจำนำ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายฝากไม่ สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนำจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญาจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่รับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือกับขอให้จำเลยคืนรถยนต์ตามฟ้องได้ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 155 วรรคหนึ่ง, ม. 155 วรรคสอง, ม. 491, ม. 758


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน และกำหนดเวลาชำระคืนกันไว้ แต่จำเลยทั้งสองมีเงินให้โจทก์กู้ยืมเพียงบางส่วน จึงขอให้โจทก์ลงลายมือชื่อ ในหนังสือมอบอำนาจที่มิได้กรอกข้อความให้จำเลยทั้งสองยึดถือไว้เพื่อทำนิติกรรมกู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่ชำระเงินต้นและกู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสองอีกหลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงชื่อไปกรอกข้อความและโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลัง โจทก์ทราบการโอน โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ภายใน 3 ปี หากไม่ไถ่ถอนถือว่าสละสิทธิและโจทก์จะได้รับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี แต่หากโจทก์ไถ่ถอนที่ดินพิพาทก่อนครบกำหนด โจทก์ต้องชำระภาษีพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินที่ยืมไปทั้งหมด จำเลยทั้งสองให้การตอนแรกว่าไม่เคยตกลงทำสัญญากับโจทก์ แต่ตอนท้ายกลับให้การว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ชำระเงินไม่ครบจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ผิดสัญญาและไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกร้องตามสัญญา เท่ากับจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่ามีการทำสัญญากับโจทก์จริง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงขัดแย้งกันเอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 152, ม. 155 วรรคหนึ่ง, ม. 491
ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสอง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที