Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 467 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 467 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 467” คืออะไร? 


“มาตรา 467” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 467 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “  ในข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ“

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 467” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 467 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11695/2557
การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่กำหนดในสัญญานั้น ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคหนึ่ง วางหลักไว้ว่า ผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือจะรับไว้ และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก โดยมีมาตรา 467 บัญญัติต่อไปว่า "ในข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบ" แสดงว่านอกจากกฎหมายให้สิทธิผู้ซื้อที่จะฟ้องผู้ขายให้รับผิดในทรัพย์สินส่วนที่ส่งมอบขาดได้แล้ว ยังให้สิทธิแก่ผู้ขายที่จะฟ้องเรียกทรัพย์สินส่วนที่ส่งมอบล้ำจำนวนไปคืนจากผู้ซื้อได้ด้วย ซึ่งทั้งสองกรณี ไม่ว่าผู้ซื้อหรือผู้ขายจะเป็นผู้ฟ้อง ต้องฟ้องเสียภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบ คดีนี้โจทก์ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายแก่จำเลยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2527 หากเนื้อที่ดินที่ส่งมอบล้ำจำนวนไปจากที่ระบุในสัญญา โจทก์ก็ต้องฟ้องให้จำเลยรับผิดคืนส่วนที่ล้ำจำนวนไปเสียภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบคือต้องฟ้องภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2528 ดังนั้น การที่โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องในปี 2555 จึงเป็นการฟ้องที่เกินกำหนดอายุความตามกฎหมาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 466, ม. 467


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 ห้ามฟ้อง ในกรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อขายขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวน จากที่ตกลงซื้อขายกันเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ ดังนั้น หากผู้ซื้อต้องการเรียกร้องให้ผู้ขายส่งมอบที่ดิน ที่ขาดจำนวนเพื่อให้ตรงตามที่ตกลงซื้อขายกัน ผู้ซื้อต้องฟ้องให้ผู้ขายรับผิดส่งมอบที่ดินส่วนที่ขาดดังกล่าวแก่ผู้ซื้อภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนซื้อขาย โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยส่งมอบที่ดินส่วนที่ขาดตกบกพร่อง จากจำนวนที่ซื้อขายกันแก่โจทก์ แต่กรณีเป็นเรื่องโจทก์ฟ้อง เรียกเงินค่าซื้อที่ดินส่วนที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปบางส่วน คืนด้วยเหตุที่จำเลยส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายกันขาดตกบกพร่องจากจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน และจำเลยไม่อาจอ้างกฎหมาย ที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้โดยชอบ จึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์ คืนฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 กรณีต้องบังคับด้วยอายุความเรื่องลาภมิควรได้ตาม มาตรา 419 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่ เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น โจทก์จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน กันเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 อันถือได้ว่าจำเลยได้ส่งมอบที่ดิน ที่ซื้อขายกันให้แก่โจทก์โดยชอบในวันดังกล่าว สิทธิที่โจทก์ จะเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินฐานลาภมิควรได้เกิดขึ้นแล้ว แต่โจทก์เพิ่งมารู้ว่าที่ดินที่ซื้อจากจำเลยขาดตกบกพร่อง จำนวนไปเมื่อได้มีการเปลี่ยนหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินจาก หนังสือรับรองการทำประโยชน์มาเป็นโฉนดที่ดินที่ทางราชการ ออกให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 และนำคดีมาฟ้อง เรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2536จึงยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับการซื้อขายกัน เป็นอย่างอื่น การปฏิบัติต่อกันตามสัญญาซื้อขายทั่วไปจึงต้องถือ อายุความทั่วไปสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับ โจทก์และคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาท ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพียงว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายกัน ตามฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เท่านั้น การที่ จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องที่จำเลยได้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์ ครบถ้วนแล้วและที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ขาดไปเพราะถูกกัน เป็นถนนและในปัญหาอื่นนอกจากนี้ขึ้นมาแม้จำเลยจะได้ นำสืบไว้ก็ถือว่าเป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็น ข้อพิพาทถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งการที่ที่ดินที่ซื้อขายจะส่งมอบให้แก่กันขาดจำนวนมากน้อยเพียงใดและด้วยเหตุใดนั้น ไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาเหล่านี้ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 225 ชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 406, ม. 419, ม. 467
ป.วิ.พ. ม. 225


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2542
โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินบางส่วนที่ชำระให้จำเลยเกินไปคืน ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงเป็นเรื่องลาภมิควรได้ ไม่ใช่เป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในฐานทรัพย์ซึ่งซื้อขายขาดตกบกพร่อง จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 มาบังคับมิได้ กรณีต้องนำอายุความในมูลลาภมิควรได้ ตามมาตรา 419 ซึ่งกำหนดอายุความไว้ 1 ปี นับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายคือโจทก์ผู้ซื้อรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น
เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดให้โจทก์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2535 ระบุเนื้อที่ดินขาดไปจากที่โจทก์ชำระราคาให้จำเลย หลังจากรังวัดตรวจสอบให้เป็นที่แน่นอนอีกครั้งแล้วจึงแก้ไขในโฉนดระบุเนื้อที่ดินใหม่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 ดังนั้น อายุความ1 ปีย่อมเริ่มนับตั้งแต่ตรวจสอบทราบแน่นอนแล้ว คือวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 ยังไม่เกิน 1 ปี และไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันชำระราคาเกินไปคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยต้องคืนเงินส่วนเกินให้โจทก์ทั้งสอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 419, ม. 467
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที