Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 448 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 448” คืออะไร? 


“มาตรา 448” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 448 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด
              แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "เรียกร้องค่าเสียหาย" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "เรียกร้องค่าเสียหาย" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 448” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 448 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2565
คดีนี้จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิดเพราะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุละเมิด แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยทั้งสามหาจำต้องอุทธรณ์ในประเด็นนี้ไม่ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในประเด็นอื่น จำเลยทั้งสามได้กล่าวคำแก้อุทธรณ์ว่าคำให้การของจำเลยทั้งสามชัดแจ้งและฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว คดีจึงมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก่อนโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิด ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะนายจ้างซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การชัดแจ้งว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อไร จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้ให้การชัดแจ้งเรื่องอายุความตามสัญญาประกันภัย ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ชอบแล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้กระทำละเมิดตามคำให้การย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีแล้ว เฉพาะคำให้การของจำเลยที่ 1 จึงชัดแจ้งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว ปัญหาเรื่องอายุความจึงเป็นประเด็นในคดี โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 4677/2560 ของศาลชั้นต้น กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่า คดีอาญาถึงที่สุดก่อนโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง การฟ้องคดีแพ่งย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา193/32 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง เมื่อโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 อันเป็นวันเกิดเหตุละเมิด โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด ประกอบกับหนี้หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์ไม่ได้ทวงถามจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ก่อน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นตันไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันทำละเมิด จึงไม่ชอบ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/32, ม. 448 วรรคสอง
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 177 วรรคสอง, ม. 246, ม. 252
ป.วิ.อ. ม. 51 วรรคสาม


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2564
แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาแต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดทั้งในมูลผิดสัญญาตัวแทนและในมูลละเมิด ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 12 กันยายน 2555 และจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องในมูลผิดสัญญาตัวแทนนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และ ฝ. นั้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และ ฝ. รับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่ ฝ. เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2555 ซึ่งความรับผิดของจำเลยที่ 2 และ ฝ. มิใช่การรับผิดร่วมกัน แต่เป็นความรับผิดของแต่ละคนที่จะต้องรับผิดเฉพาะในช่วงเวลาที่ตนเป็นผู้จัดการของโจทก์เท่านั้น และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซํ้าและการดำเนินกระบวนพิจารณาซํ้าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบใบเสร็จรับเงินที่มีการยกเลิกให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 812 เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ไม่เกินไปกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ดังนั้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 เพียงใด ก็ต้องนำมาหักชำระหนี้ในส่วนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/30, ม. 448 วรรคหนึ่ง, ม. 812
ป.วิ.พ. ม. 144, ม. 148


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2730/2562
การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมไปรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่อยู่ในวิสัยที่คาดหมายได้ว่า โจทก์ไม่ดำเนินการซ่อมระบบเบรกรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองอย่างแน่นอน โดยยังคงจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้บริเวณศูนย์บริการของโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่จะใช้ประโยชน์ในสถานที่ที่จำเลยทั้งสองจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับรถยนต์พิพาทกลับคืนไปและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับรถยนต์พิพาทคืนแล้ว และยังฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการจอดรถยนต์ทิ้งไว้เป็นเวลานานนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง
แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปจอดไว้ที่ศูนย์บริการของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้เป็นรายวัน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนที่เกิน 1 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนไปจึงย่อมขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเสียหาย 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีจึงชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 448 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. ม. 5, ม. 55
ป.พ.พ. ม. 593
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที