Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 443 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 443 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 443” คืออะไร? 


“มาตรา 443” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 443 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น“

อ่านบทความ : เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนเราเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอะไรได้บ้าง ? คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 443” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 443 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2565
โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถชนท้ายรถซึ่งผู้ตายขับรถแล่นอยู่ในทิศทางเดียวกัน และความประมาทเกิดจากจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว ที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น นั้น เห็นว่า ผู้ตายเป็นสามีโจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคท้าย มาตรา 438 วรรคหนึ่งและมาตรา 443 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำสืบและอ้างถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะแล้ว จึงมีข้อเท็จจริงที่ชอบจะวินิจฉัยค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยค่าเสียหายส่วนนี้ไป ส่วนค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนี่ง บัญญัติให้ผู้กระทำละเมิดต้องรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย โดยค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวศาลจะพิจารณาตามสมควรตามความจำเป็น ทั้งพิจารณาตามประเพณีและตามฐานานุรูปของผู้ตาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้รับผิดเต็มวงเงินประกันนั้น เมื่อความเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่เกินวงเงินความคุ้มครองรวมของทั้ง 2 กรมธรรม์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาส่วนนี้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 438, ม. 443, ม. 1461


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5628/2560
การกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าหากผู้ตายมีชีวิตจะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายกำลังใกล้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในระหว่างนั้นโจทก์ที่ 1 มีอายุ 53 ปี และโจทก์ที่ 2 มีอายุ 45 ปี หากผู้ตายไม่ถึงแก่ความตายย่อมมีโอกาสจบการศึกษาและประกอบอาชีพมีรายได้พอสมควร ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามกฎหมายโดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี นับว่าเหมาะสมตามสมควรและตามฐานะของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสองแล้ว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือผู้ใช้ จ้างวาน หรือผู้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 กระทำการร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แท็กซี่ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์สามล้อเครื่องที่จำเลยที่ 5 ขับจนเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด และโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์แท็กซี่จากจำเลยที่ 2 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลยที่ 4 เป็นเรื่องหนี้อันเกิดแต่สัญญา การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 4 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 4 ยอมใช้เงิน 300,000 บาท เป็นการระงับหนี้อันเกิดแต่สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไว้ ส่วนจำนวนเงินที่ยังไม่เต็มตามความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นข้อโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากสัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามสัญญาประกันภัยตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. ย่อมไม่อาจให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเนื่องจากจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 443 วรรคท้าย
ป.วิ.พ. ม. 142


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2560
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.อ. ม. 1, ม. 2 (4), ม. 5 (2), ม. 44/1
ป.อ. ม. 291, ม. 300
ป.พ.พ. ม. 443 วรรคสาม, ม. 1461 วรรคสอง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที