Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 440 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 440 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 440” คืออะไร? 


“มาตรา 440” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 440 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อันได้เอาของเขาไปก็ดี ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อันลดน้อยลงเพราะบุบสลายก็ดี ฝ่ายผู้ต้องเสียหายจะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องใช้ คิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคานั้นก็ได้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 440” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 440 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2638/2564
จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมไปหลายรายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,075,012 บาท แต่โจทก์และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนทองคำที่ฉ้อโกงไปคืนหรือใช้ราคา 11,103,793 บาท ซึ่งเกินไปกว่าราคาทองคำที่แท้จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไป โดยส่วนที่เกินกว่าราคาทองคำที่แท้จริงเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนหรือชดใช้ราคาทองคำที่แท้จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไปแทนโจทก์ร่วม อันเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมต้องสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้เท่านั้น ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มมิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองซื้อขายทองคำกันจริง หากแต่เป็นเพียงอุบายของจำเลยทั้งสองในการฉ้อโกงโจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องมีหน้าที่นำส่งค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากร ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมิใช่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเกิดจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โจทก์ร่วมไม่อาจเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาทองคำที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงโจทก์ร่วมไปนั้น โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีเสียดอกเบี้ยให้แก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยนิติกรรมหรือกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละสามต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้จะได้เรียกดอกเบี้ยสูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นดอกเบี้ยของค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วม จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ โดยโจทก์ร่วมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยของราคาทองคำในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมแต่ละรายการ จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชดใช้ราคาทองคำเสร็จแก่โจทก์ร่วม โดยดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้ปรับเปลี่ยนไปตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ร่วมขอ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 7 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่), ม. 440
ป.วิ.อ. ม. 43, ม. 44/1


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11224/2555
การที่สลากกินแบ่งรัฐบาลถูกรางวัลที่หนึ่งและจำเลยทั้งสองร่วมกันไปรับเงินรางวัลมาแล้ว ย่อมทำให้โจทก์ร่วมหมดโอกาสที่จะได้รับเงินรางวัล เท่ากับว่าโจทก์ร่วมต้องสูญเสียเงินจำนวนนั้นไปเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองโดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่หนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ได้ความว่าในการขอรับเงินรางวัล จำเลยทั้งสองได้รับเงินมาเพียง 3,980,000 บาท เพราะต้องเสียอากรแสตมป์ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องคืนหรือใช้เงินจำนวนเท่าที่ได้รับมาเท่านั้น และโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม โดยเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.อ. ม. 43, ม. 44/1
ป.อ. ม. 352 วรรคแรก
ป.พ.พ. ม. 440


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6385/2544
คำพิพากษาในคดีอาญาที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 34,922 บาท จำเลยทั้งสองมีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ในลำดับแรกคือส่งมอบทรัพย์คืนให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบทรัพย์และโจทก์ไม่สามารถบังคับคดีให้จำเลยทั้งสองร่วมส่งมอบทรัพย์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยทั้งสองใช้ราคาทรัพย์จำนวน 34,922 บาท หนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นหนี้ให้ส่งมอบทรัพย์ ส่วนหนี้เงินจำนวน 34,922 บาท ตามคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวนั้นเป็นหนี้ซึ่งกำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน อีกทั้งคำพิพากษาในคดีอาญานั้นก็มิได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดในกรณีที่ใช้ราคาทรัพย์ แม้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคาตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 แต่การเรียกดอกเบี้ยตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ให้สิทธิแก่ฝ่ายผู้ต้องเสียหายที่จะเรียกเอาดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องใช้เมื่อฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิดังกล่าว มิใช่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกดอกเบี้ยภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว เมื่อหนี้ตามคำพิพากษามีจำนวน 34,922 บาท จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 440
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 9
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที