Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 432 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 432 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 432” คืออะไร? 


“มาตรา 432” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 432 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
              อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย
              ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 432” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 432 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2564
ตามบทบัญญัติมาตรา 50, 54 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 17, 45 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และมาตรา 4 นิยามศัพท์ “การศึกษาภาคบังคับ” “สถานศึกษา” “เด็ก” แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 เป็นบทบังคับให้ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นหน้าที่ของรัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติ เริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำเลยที่ 1 เปิดสอนการศึกษาภาคบังคับจึงเป็นสถานศึกษาตามนิยามศัพท์แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ โดยไม่คำนึงว่าเป็นโรงเรียนเอกชนหรือรัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แม้มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ ยังไม่ได้แก้ไขกำหนดอายุของเด็กก่อนวัยเรียนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่จำนวนชั้นปีที่ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายทั้งสองฉบับสอดคล้องกับอายุเด็กซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ว่าเป็นการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง จะให้ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ได้ ซึ่งมูลเหตุที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนแสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพการเป็นนักเรียนมีผลเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยปราศจากอำนาจตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการศึกษาจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริโภค ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนจึงเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 4 ผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำทะเบียนนักเรียนกับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามตราสารจัดตั้งของโรงเรียนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ มาตรา 39 (4) (6) แต่กลับทำผิดหน้าที่จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 432
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 427, ม. 432, ม. 1167
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ม. 17, ม. 45
พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ม. 24, ม. 39 (4), ม. 39 (6)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2378/2564
ระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 กำหนดว่า “การจ่ายเงินของสหกรณ์ให้กระทำได้ดังนี้...(2) การจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้แก่สมาชิก หรือกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์...ให้จ่ายเป็นเช็ค ยกเว้นถ้าผู้รับเงินประสงค์จะให้จ่ายเป็นเงินสด...” และข้อ 27 กำหนดว่า “ก่อนจ่ายเงินทุกครั้ง ผู้มีหน้าที่จ่ายต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และใบสำคัญประกอบการจ่ายเงินให้ถูกต้องเรียบร้อย...” ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้จัดการสหกรณ์โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้ได้ โจทก์อนุมัติให้ ป. และ ก. กู้ยืมเงินจากโจทก์ ตามปกติแล้ว ป. และ ก. ต้องเป็นผู้รับเงินด้วยตนเอง การจ่ายเงินจำนวนมากเช่นในคดีนี้ต้องจ่ายเป็นเช็ค เว้นแต่ ป. และ ก. เจตนาขอรับเป็นเงินสด และหาก ป. และ ก. จะไม่รับเงินด้วยตนเองต้องทำหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นรับเงินแทน ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้ถูกต้องเสียก่อนจึงจะจ่ายเงินกู้ได้ การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้จำนวนมากเป็นเงินสดให้แก่ น. ซึ่งไม่ใช่ผู้มีสิทธิรับเงินตามสัญญากู้ จึงเป็นการจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ เป็นการละเมิดและเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ด้วย และถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง ที่จะมีผลให้จำเลยที่ 1 รับผิดน้อยลง ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่มีหน้าที่จ่ายเงินกู้ให้แก่สมาชิกผู้กู้โดยตรง แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมการจ่ายเงินทุกประเภทให้เป็นไปตามระเบียบ แล้วไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ควบคุมการจ่ายเงินสดของจำเลยที่ 1 ให้แก่ น. ให้ถูกต้องตามระเบียบ จึงเป็นการละเมิดและเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์การกำหนดค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 6 ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 223 วรรคหนึ่ง, ม. 432, ม. 442


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2557
แม้อาการป่วยของโจทก์จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติในร่างกายของโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นหรือกระทำการใด ๆ ให้โจทก์เกิดโรคมะเร็งก็ตาม แต่การแจ้งผลการตรวจผิดพลาดทำให้อาการโรคมะเร็งไตของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกโดยตามใบมรณบัตรยังระบุว่าโรคมะเร็งของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังสมองเป็นเหตุให้โจทก์ถึงแก่ความตายในที่สุด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น อายุความจะเริ่มนับต่อเมื่อผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งผลการตรวจสุขภาพประจำปีผิดพลาดไปจากความจริงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 1,687,592 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 33,751 บาท แต่จำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเพียงคนละ 32,711 บาท จึงชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ขาดไปคนละ 1,040 บาท ส่วนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 315,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 6,300 บาท และจำเลยทั้งสองเสียถูกต้องครบถ้วน แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นจำเลยร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยทั้งสองต่างได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาแยกกัน โดยต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาดังกล่าวซึ่งค่าขึ้นศาลเช่นว่านั้น เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และยื่นฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสองตามส่วนของค่าชั้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่แต่ละคนได้ชำระเกินไป เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไข้ให้ถูกต้องได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 432, ม. 448 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. ม. 150 วรรคห้า
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที