Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 425 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 425 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 425” คืออะไร? 


“มาตรา 425” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 425 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 425” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 425 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2794/2565
แม้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 11988/2561 ให้โจทก์ในฐานะนายจ้างชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของลูกจ้างเป็นค่าขนส่งสินค้าไปกลับและค่าตรวจเช็กสภาพเครื่องให้แก่บริษัท อ. และให้จำเลยในฐานะผู้รับจ้าง บริษัท อ. ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรนำสินค้าออกจากคลังสินค้าของโจทก์ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายดังกล่าวก็ตาม แต่ระหว่างโจทก์ผู้ทำการขนย้ายสินค้าออกจากคลังเก็บสินค้า กับจำเลยผู้รับจ้างให้ดำเนินการเกี่ยวกับการนำสินค้าเข้าผ่านพิธีการศุลกากรและนำสินค้าออกจากคลังสินค้าของโจทก์จะมีความรับผิดต่อกันหรือไม่อย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจำเลยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า พนักงานขับรถยกของโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียวเป็นเหตุให้ลังสินค้าพลิกตกกระแทกพื้นสินค้าได้รับความเสียหาย โดยจำเลยมิได้มีส่วนกระทำโดยประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ที่บัญญัติให้ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นดังที่โจทก์ฎีกานั้น จะบังคับแก่กรณีนี้ได้ต่อเมื่อลูกหนี้ร่วมแต่ละคนจะมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย แม้โจทก์ได้ชำระหนี้เต็มจำนวนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลย โจทก์ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยให้จำเลยชำระเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ชำระได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 226, ม. 229, ม. 296, ม. 420, ม. 425


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2563
ม. ใช้รถกระบะคันเกิดเหตุไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่ง โดยให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปที่ป่าบุห้าร้อยบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวนพร้อมกับเจ้าหน้าที่อื่นด้วยและขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขับรถกลับไปที่หน่วยห้วยคำภู ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปและอยู่ที่หน่วยดังกล่าวคนเดียวจนถึงวันเกิดเหตุ ทั้งที่ ม. เบิกความว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว แต่กลับยินยอมให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปคันเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความผูกพันในหน้าที่เดิมอย่างไม่ขาดตอน พฤติการณ์แห่งคดีจึงบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงในการทำงานกับจำเลยที่ 2 อย่างไร เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หาได้มีผลผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสองด้วยไม่ เพราะการว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวอันถือเป็นการจ้างแรงงานนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 มิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ คำเบิกความของ ม. ที่เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 อยู่ที่หน่วยห้วยคำภูเพื่อรอขนย้ายสิ่งของเท่านั้น จึงขัดต่อพฤติการณ์ที่ ม. สั่งให้จำเลยที่ 1 นั่งรถกระบะคันเกิดเหตุไปยังบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวน กับสั่งให้ขับรถกระบะคันเกิดเหตุกลับไปที่หน่วย พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบยังไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น ตามคำสั่ง 96/2557 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้ ม. ใช้รถกระบะคันเกิดเหตุได้ตลอดเวลาที่ต้องปฏิบัติงาน ม. จึงมีอำนาจใช้และมีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบรถกระบะคันเกิดเหตุ การที่ ม. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะดังกล่าวไปที่หน่วยห้วยคำภู และอยู่ประจำที่หน่วยดังกล่าวเพื่อรอรับ ม. กับเจ้าหน้าที่อื่นพร้อมกับผู้ต้องหาที่ถูกจับ การขับรถกระบะคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 หาได้เป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปเบิกถอนเงินแม้เป็นธุระส่วนตัว และบริเวณที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในเขตทำการที่จำเลยที่ 2 รับผิดชอบ แต่การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปกลับเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับงานที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย ถือได้ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างปฏิบัติงานให้จำเลยที่ 2 นายจ้าง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 425
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 425, ม. 575


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2563
จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่ มีรถแท็กซี่ให้เช่ามากถึง 60 คัน จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่รายใหญ่ จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่คันเกิดเหตุจากโจทก์ซึ่งจดทะเบียนประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน อันเป็นรถยนต์สาธารณะตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ซึ่งอยู่ในความควบคุมของนายทะเบียนและผู้ตรวจการขนส่งทางบก โดยมีชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ติดอยู่ที่ประตูรถด้านหน้าทั้งสองข้าง แล้วจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่ไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับส่งคนโดยสารในนามของโจทก์เพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ แม้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18871/2557 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะไม่นำทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปให้เช่า จำเลยที่ 2 ย่อมต้องทราบดีว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถนำรถที่ตนเช่าซื้อจากโจทก์ให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่าได้ การที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่ของโจทก์เพื่อนำออกให้เช่าโดยที่โจทก์ได้จดทะเบียนรถแท็กซี่เป็นรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารตามกฎหมายแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ที่ติดอยู่ด้านข้างรถแท็กซี่นำไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรถส่งคนโดยสารเพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ส่วนโจทก์ก็ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารด้วย เพราะโจทก์สามารถให้เช่าซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้ผูกนิติสัมพันธ์กันแต่เฉพาะนิติกรรมการเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่คันเกิดเหตุไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับคนโดยสาร จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับโจทก์เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนในการประกอบกิจการรับขนคนโดยสารด้วย จำเลยที่ 2 กับโจทก์จึงต้องร่วมกันรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 425, ม. 427, ม. 821
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที