Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 423 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 423 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 423” คืออะไร? 


“มาตรา 423” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 423 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
              ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ “

ค้นหา : คำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติม ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 423” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 423 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6681/2562
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 423 ไม่ได้บัญญัติว่าเป็นการกล่าวหรือไขข่าวต่อบุคคลที่สาม แต่การกล่าวหรือไขข่าวที่แพร่หลายได้ก็ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ การพูดคนเดียวไม่มีคนได้ยินย่อมไม่เป็นการกล่าวให้แพร่หลาย ดังนั้นถ้ามีคนแอบฟังโดยคนพูดไม่รู้ การพูดดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ. เป็นผู้เริ่มต้นการตั้งโปรแกรมสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค เมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการส่งข้อความและข้อมูลมัลติมีเดียสนทนาโต้ตอบกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เข้าในระบบเพื่อพูดคุยกัน โปรแกรมสนทนาดังกล่าวเป็นแบบระบบปิดมีสมาชิกเพียง 3 คนคือจำเลยทั้งสองและ พ. บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปดูหรืออ่านข้อความสนทนาได้ การสนทนาดังกล่าวที่มีการพูดถึงโจทก์และพนักงานอื่นรวมอยู่ด้วยจึงเป็นการกล่าวที่จำเลยทั้งสองและ พ. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันสนทนาร่วมกันโดย พ. เข้าร่วมสนทนากับจำเลยทั้งสองหลายครั้ง จึงมิใช่เป็นการที่จำเลยทั้งสองกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ส่วนการที่โจทก์แอบดูและอ่านข้อความสนทนาและนำไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบเอง ย่อมไม่ทำให้การสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสามเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายให้บุคคลอื่นรับทราบได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 423


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893/2558
แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นสื่อมวลชน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ๆ แต่ก็หาอาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น การที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เคยนำเสนอภาพและข่าวไปก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าชายหญิงในภาพเป็นใครมาเผยแพร่ซ้ำโดยระบุในเนื้อข่าวว่า ชายในภาพที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักคือโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต้องแจ้งชื่อ ลักษณะแห่งความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ต่อพนักงานสอบสวนเป็นหน้าที่ที่ผู้เสียหายต้องกระทำในการร้องทุกข์กล่าวโทษ จะถือว่าโจทก์ยินยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชนหาได้ไม่ แม้โจทก์จะเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ย่อมมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว มิใช่ว่าเมื่อเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะแล้วจะทำให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่มิใช่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงตาม มาตรา 423 โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของตนโดยประการอื่นตามมาตรา 423 ได้ โดยจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น และแม้จะมีบุคคลอื่นกระทำละเมิดด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้กระทำละเมิดรายนั้น ๆ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลปรับลดค่าเสียหายที่ตนต้องรับผิดลง แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 จะบัญญัติคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และมาตรา 28 บัญญัติให้ผู้ถูกกระทำละเมิดสามารถยกขึ้นเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทบัญญัติในทำนองเดียวกันนี้ก็ตาม แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ม. 28, ม. 34
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 423


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21420/2556
ข้อเท็จจริงที่จะทำให้การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็คือการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้นฝ่าฝืนต่อความจริง หากการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายความจริงก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด การที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แล้ว ร. ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อ. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหม่อมราชวงศ์ จ. ในฐานะปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงข่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่รายชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์รวม 10 บริษัท โดยมีชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. รวมอยู่ด้วย ซึ่งการแถลงข่าวของบุคคลดังกล่าวเป็นการแถลงต่อสาธารณชนตามปกติวิสัยเพื่อยุติกระแสความตื่นตระหนกต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ดังนี้ คำแถลงข่าวของบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง การการะทำของบุคคลดังกล่าวจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 423 วรรคหนึ่ง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที