Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 419 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 419 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 419” คืออะไร? 


“มาตรา 419” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 419 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “  ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น“

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 419” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 419 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2565
สัญญาซื้อขายที่ดินที่คู่สัญญาไม่มีเจตนาไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง จำเลยผู้ขายจะต้องคืนเงินค่าที่ดินแก่ ส. ผู้ซื้อในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของ ส. มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินค่าซื้อที่ดินคืนตั้งแต่เมื่อใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนที่ ส. จะถึงแก่ความตาย ส. ได้ทวงถามเงินค่าซื้อที่ดินจากจำเลย พฤติการณ์เช่นนี้ ถือได้ว่า ส. รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนตั้งแต่ทวงถามแล้ว แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เวลาที่ ส. รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 172 วรรคสอง, ม. 193/10, ม. 419, ม. 456 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. ม. 84/1


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7900/2561
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรลำดับที่ 4 และที่ 5 เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิยื่นใบเบิกเงินและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าว เพราะขัดต่อ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2523 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 6 ซึ่งการที่จำเลยใช้สิทธิเบิกและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าวเป็นผลจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกับจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ มิใช่นิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง และเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปดังกล่าวก็มิใช่กรณีโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่โจทก์ที่มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินดังกล่าวทราบว่าจำเลยเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเกินสามคน ทำให้เจ้าหน้าที่โจทก์จ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรของจำเลยลำดับที่ 4 และที่ 5 เกินกว่าสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับเงินไปยึดถือโดยไม่ชอบ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ การเรียกร้องเงินที่จำเลยได้รับไปโดยไม่ชอบดังกล่าว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 419, ม. 1336


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7730/2560
เงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 ข้อ 4.5 (2) ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนมิใช่ฟ้องเรียกในฐานลาภมิควรได้ อันจะอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรืออายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การเรียกร้องในกรณีนี้เป็นการฟ้องเรียกเงินคืนที่จำเลยได้ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ

เหตุที่กระทรวงการคลังและโจทก์มีระเบียบให้โจทก์จ่ายภาษีเงินได้จากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานก็เพื่อบรรเทาภาระที่จำเลยต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนนี้ ประกอบกับโจทก์ได้หารือไปยังกรมสรรพากรแล้วก็ได้รับคำยืนยันว่าจำเลยไม่ได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าว หากจำเลยไม่ต้องรับภาระจ่ายเงินภาษีเงินได้จำนวนนี้ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย ลักษณะการจ่ายเงินเช่นนี้มิใช่เพื่อจูงใจให้จำเลยลาออกเพราะจำเลยมีผลประโยชน์ในส่วนอื่นที่จะได้รับจากการลาออกอยู่แล้ว เงินภาษีเงินได้ทอดแรกที่โจทก์จ่ายให้จำเลยกับเงินภาษีเงินได้ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กรมสรรพากรคืนให้จำเลยจึงเป็นเงินประเภทเดียวกันซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิได้รับซ้ำซ้อนกันถึงสองครั้ง จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับดอกเบี้ยโจทก์มีสิทธิคิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดทวงถาม มิใช่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากก่อนทวงถามยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกเงินจำนวนนี้คืนจากจำเลยหรือไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224, ม. 419, ม. 575, ม. 1336
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที