“มาตรา 417 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 417” คืออะไร?
“มาตรา 417” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 417 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวมาในวรรคต้นแห่งมาตราก่อนนั้น บุคคลผู้คืนทรัพย์สินจะเรียกให้ชดใช้ได้แต่เฉพาะที่เสียไปในระหว่างที่ตนทำการโดยสุจริต และเมื่อทรัพย์สินนั้นได้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายนั้นในเวลาที่คืน และจะเรียกได้ก็แต่เพียงเท่าราคาที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น
อนึ่ง บทบัญญัติแห่งมาตรา ๔๑๕ วรรค ๒ นั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับด้วย แล้วแต่กรณี “
2 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 417” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 417 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2558
แม้คดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และโจทก์มิได้ฎีกาทำให้คดีถึงที่สุด แต่ภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 (1) ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบ ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวเปิดช่องให้สามารถทำได้ไม่ต้องห้าม เพราะเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบตามที่โจทก์ยื่นคำร้อง ย่อมมีผลทำให้โจทก์ไม่จำต้องฟ้องเรียกดินที่ถมเป็นคดีนี้ แม้ต่อมาศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ว่าการยื่นคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ใช้สิทธิตามช่องทางที่มีกฎหมายรองรับ จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายหาใช่เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เมื่อคดีที่โจทก์ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 30 มีนาคม 2553 การที่โจทก์ฟ้องเรียกดินที่ถมในที่ดินพิพาทคืนเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 จึงยังไม่พ้นอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่ตราบใดคดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดโจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะใช้สอยที่ดินพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ถมดินในที่ดินพิพาทก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดจึงย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ และกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่โจทก์สมัครใจถมดินในที่ดินพิพาทตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยรู้อยู่ว่าอาจมีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทภายหลังได้ ส่วนข้อสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยหาอาจนำมาอ้างให้เสื่อมสิทธิของโจทก์และเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ เพราะเป็นข้อตกลงที่โจทก์มีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี หาได้เกี่ยวและมีผลผูกพันจำเลย แต่เมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยได้ดินที่โจทก์ถมไว้โดยสุจริตในที่ดินพิพาทไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิ่งใดที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับปรุงถมดินเต็มเนื้อที่ในที่ดินพิพาทเพื่อจะปลูกสร้างบ้านเป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 12 ปี ดินที่โจทก์นำมาถมย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพเกลื่อนกลืนกับที่ดินพิพาทของจำเลยไปตามกาลเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนดินที่ถมหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนก็ตาม ก็ไม่อาจคืนดินที่ถมไปแล้วให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทนดินที่ถม ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์เรียกจากจำเลยได้ก็เพียงเท่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 38 ตารางวา และโจทก์ถมดินไป 3,000 คิว ประกอบกับสภาพสถานที่ตั้งของที่ดิน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 510,000 บาท
ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุด การที่โจทก์ถมที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน และมีการตัดต้นไม้ในที่ดินพิพาทเพื่อถมดิน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ หาเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยไม่ และแม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ถึงที่สุดดังกล่าวจะมีผลเท่ากับว่าไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทมาแต่แรก ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.5 ไม่มีผลบังคับ แต่ก่อนที่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะถึงที่สุด สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อยู่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 144, ม. 148 (1)
ป.พ.พ. ม. 139, ม. 406, ม. 407, ม. 417, ม. 419, ม. 1330
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10651/2553
โจทก์ทั้งสองตกลงซื้อที่ดินกับ ส. ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน และเมื่อไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก็ไม่ปรากฏว่า มีการแจ้งอายัดที่ดินดังกล่าวไว้ แม้จะมีพิรุธที่มีการจดทะเบียนการโอนจาก ส. ไปยัง ณ. ก่อน แล้วจึงโอนต่อไปให้โจทก์ทั้งสองในวันเดียวกันก็ไม่มีข้อห้ามมิให้กระทำ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องที่ส่อไปในทางทุจริตแต่อย่างใด การที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแล้วนำมาแบ่งแยกและว่าจ้างให้ ช. ถมดินและปรับสภาพที่ดินโดยเปิดเผย จึงไม่อาจฟังว่า โจทก์ทั้งสองมีส่วนกระทำการโดยไม่สุจริต และการที่จำเลยรู้เห็นที่โจทก์ทั้งสองถมดินในที่ดินแล้วไม่ขัดขวางหรือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่า ที่ดินมีข้อโต้แย้งฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ ก็ยังไม่อาจถือว่า จำเลยกระทำการโดยไม่สุจริตเช่นกัน
การที่จำเลยได้ที่ดินมาเป็นของตนตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยได้ดินที่โจทก์ทั้งสองถมไว้โดยสุจริตไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้ปรับปรุงถมดินในที่ดินของจำเลยเป็นเวลานานถึง 20 ปีเศษ ดินที่นำมาถมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 จึงไม่อาจคืนดินที่ถมได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยคืนดิน แต่ขอให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการถมดินและปรับปรุงที่ดิน ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์ทั้งสองเรียกจากจำเลยได้เพียงราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงสถานที่ตั้งของที่ดิน เนื้อที่ดิน ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจ และราคาซื้อขายที่ดินในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีแล้ว เห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,200,000 บาท
หนี้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้เรียกให้จำเลยใช้เงินในกรณีนี้แก่โจทก์ทั้งสองในวันใด จึงต้องถือว่า วันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองเรียกให้จำเลยใช้เงินดังกล่าว แต่จำเลยไม่ใช้ให้ อันเป็นเหตุให้จำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 415 วรรคสอง และตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 139, ม. 203 วรรคหนึ่ง, ม. 204 วรรคหนึ่ง, ม. 224 วรรคหนึ่ง, ม. 406, ม. 415 วรรคสอง, ม. 417