Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 415 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 415 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 415” คืออะไร? 


“มาตรา 415” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 415 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริตย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่ถ้าผู้ที่ได้รับไว้จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใด ให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่เรียกคืนนั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 415” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 415 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14208/2558
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อได้ คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในเรื่องลาภมิควรได้หรือไม่เพราะโจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้อง แม้สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 อาจจะไม่มีสิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตามลักษณะลาภมิควรได้ ซึ่งต้องไปว่ากล่าวกันอีกต่างหาก ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ต่อไป โจทก์ย่อมอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ติดตามเอารถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ โดยถือว่าจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในฐานะทุจริตนับแต่เวลาที่โจทก์เรียกรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 415 วรรคสอง แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคารถแทนนั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องโจทก์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 415 วรรคสอง
ป.วิ.พ. ม. 142 วรรคหนึ่ง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10651/2553
โจทก์ทั้งสองตกลงซื้อที่ดินกับ ส. ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน และเมื่อไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก็ไม่ปรากฏว่า มีการแจ้งอายัดที่ดินดังกล่าวไว้ แม้จะมีพิรุธที่มีการจดทะเบียนการโอนจาก ส. ไปยัง ณ. ก่อน แล้วจึงโอนต่อไปให้โจทก์ทั้งสองในวันเดียวกันก็ไม่มีข้อห้ามมิให้กระทำ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องที่ส่อไปในทางทุจริตแต่อย่างใด การที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแล้วนำมาแบ่งแยกและว่าจ้างให้ ช. ถมดินและปรับสภาพที่ดินโดยเปิดเผย จึงไม่อาจฟังว่า โจทก์ทั้งสองมีส่วนกระทำการโดยไม่สุจริต และการที่จำเลยรู้เห็นที่โจทก์ทั้งสองถมดินในที่ดินแล้วไม่ขัดขวางหรือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่า ที่ดินมีข้อโต้แย้งฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ ก็ยังไม่อาจถือว่า จำเลยกระทำการโดยไม่สุจริตเช่นกัน
การที่จำเลยได้ที่ดินมาเป็นของตนตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยได้ดินที่โจทก์ทั้งสองถมไว้โดยสุจริตไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้ปรับปรุงถมดินในที่ดินของจำเลยเป็นเวลานานถึง 20 ปีเศษ ดินที่นำมาถมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 จึงไม่อาจคืนดินที่ถมได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยคืนดิน แต่ขอให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการถมดินและปรับปรุงที่ดิน ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์ทั้งสองเรียกจากจำเลยได้เพียงราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงสถานที่ตั้งของที่ดิน เนื้อที่ดิน ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจ และราคาซื้อขายที่ดินในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีแล้ว เห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,200,000 บาท
หนี้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้เรียกให้จำเลยใช้เงินในกรณีนี้แก่โจทก์ทั้งสองในวันใด จึงต้องถือว่า วันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองเรียกให้จำเลยใช้เงินดังกล่าว แต่จำเลยไม่ใช้ให้ อันเป็นเหตุให้จำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 415 วรรคสอง และตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 139, ม. 203 วรรคหนึ่ง, ม. 204 วรรคหนึ่ง, ม. 224 วรรคหนึ่ง, ม. 406, ม. 415 วรรคสอง, ม. 417


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2548
จำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอก ช. ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญของกองทัพเรือโจทก์ เมื่อเรือเอก ช. ถึงแก่ความตายจำเลยได้ขอรับเงินบำเหน็จตกทอดจากโจทก์ และโจทก์จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่จำเลย 207,750 บาท ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสโดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากัน หากแต่กระทำเพื่อต้องการได้รับเงินบำเหน็จตกทอด การสมรสของจำเลยฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว เมื่อศาลพิพากษาว่าการสมรสตกเป็นโมฆะจึงไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคหนึ่ง และมีผลเท่ากับจำเลยกับเรือเอก ช. มิได้เป็นสามีภริยากันมาแต่แรกจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวและสิทธิของจำเลยดังกล่าวก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1499 เพราะจำเลยมิได้สมรสโดยสุจริต จำเลยจึงต้องคืนเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 406
จำเลยมีหน้าที่จะต้องคืนเงินแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้เรียกคืนก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดต่อเมื่อมีการเรียกคืนแล้ว แต่จำเลยไม่คืนให้ จึงจะถือว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 415 วรรคสอง และตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่เวลานั้นเป็นต้นไปตามมาตรา 203 วรรคแรก และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 172, ม. 204, ม. 224, ม. 415, ม. 1495, ม. 1496, ม. 1498
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที