Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 408 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 408 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 408” คืออะไร? 


“มาตรา 408” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 408 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ คือ
              (๑) บุคคลผู้ชำระหนี้อันมีเงื่อนเวลาบังคับเมื่อก่อนถึงกำหนดเวลานั้น
              (๒) บุคคลผู้ชำระหนี้ซึ่งขาดอายุความแล้ว
              (๓) บุคคลผู้ชำระหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรม หรือตามควรแก่อัธยาศัยในสมาคม “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 408” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 408 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14860/2558
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หาหรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ จำเลยเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ตามคำพิพากษา ของศาลแพ่ง โดยก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแพ่งและก่อนโจทก์นำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย จำเลยได้จดทะเบียนการให้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านบุตรของจำเลย การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่กระทำภายในระยะเวลา 1 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลายและเป็นการทำให้โดยเสน่หา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้จำเลยและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องเสียเปรียบ จำเลยและผู้คัดค้านมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 114
การที่ผู้คัดค้านเป็นบุตรซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับจำเลยกล่าวอ้างว่า ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทได้นำเงินมาชำระหนี้เจ้าหนี้อื่นแทนจำเลยมารดาของตนเพื่อปลดภาระจำนอง แสดงว่าผู้คัดค้านย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยไม่สามารถชำระหนี้เจ้าหนี้ได้และจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การที่บุตรชำระหนี้แทนมารดาเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมประการหนึ่ง ไม่มีสิทธิได้รับคืนทรัพย์แต่ประการใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 408 (3) นิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านจึงเป็นการยกให้โดยเสน่หาตามที่ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียน มิอาจรับฟังเป็นอื่นได้ ทั้งในชั้นพิจารณาทนายผู้คัดค้านแถลงไม่ติดใจนำพยานเข้าไต่สวน จึงไม่มีข้อเท็จจริงใดนำมาหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ การที่จำเลยทำนิติกรรมยกกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านบุตรของจำเลยโดยเสน่หาในขณะที่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยไม่เพียงพอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยและผู้คัดค้านรู้อยู่ว่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทดังกล่าวเป็นทางให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เสียเปรียบอันเป็นการกระทำโดยการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 237, ม. 408 (3)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 113, ม. 114


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2540
เอกสารระบุว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญา โจทก์จะนำเงินของผู้ใดมาให้จำเลยกู้ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำได้ ไม่ทำให้สัญญากู้และสัญญาจำนองเสียไปแต่ประการใด
จำเลยกู้เงินโจทก์ 500,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ30 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2475 ตกเป็นโมฆะ เท่ากับการกู้เงินรายนี้มิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยไว้ แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินโจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้วจำเลยผิดนัด โจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยชำระเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์เป็นการชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 30 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท ด้วยความสมัครใจของจำเลยตามที่ตกลงกับโจทก์ไว้เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ จำเลยจะเรียกคืนหรือนำมาหักกับต้นเงิน 500,000 บาท มิได้ จำเลยจึงยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่ 500,000 บาท
การกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตกเป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยเกินอัตราเท่านั้น ไม่ทำให้การกู้เงินตกเป็นโมฆะไปด้วย สัญญากู้ส่วนที่มีการกู้เงินกันจริงยังคงมีผลผูกพันคู่สัญญากันอยู่ จำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้ยกเลิกสัญญามิได้ ทั้งไม่มีเหตุให้เพิกถอนสัญญาจำนองอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้เงินดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224, ม. 408, ม. 653
ป.วิ.พ. ม. 177
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1015/2507
พ.ฟ้อง บ.หาว่าบุกรุกที่นามือเปล่าของตน ขอให้ห้ามมิให้เกี่ยวข้อง บ.ต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของ บ. ในระหว่างพิจารณาศาลสั่งให้ประมูลค่าเช่านาพิพาทสำหรับปีนั้น (พ.ศ.2486) ฝ่ายใดให้ค่าเช่าสูงก็จะได้ทำนา ให้นำเงินค่าเช่ามาวางศาลไว้ ชำระให้ผู้ชนะคดี จำเลยเป็นฝ่ายประมูลได้ ได้เข้าทำนาพิพาท ปีต่อมาจำเลยก็ทำนาพิพาทอีกโดยไม่ยอมประมูลค่าเช่าและเป็นฝ่ายทำนาพิพาทตลอดมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อพ.ศ.2500 ซึ่งวินิจฉัยว่าฟังไม่ได้ว่าที่พิพาทเป็นของ พ. พิพากษายืนให้ยกฟ้อง วันที่ 10 ตุลาคม 2503 บ.จึงร้องต่อศาลว่า พ.ยังไม่ออกจากที่พิพาท ขอให้เรียกมาว่ากล่าว พ.แถลงว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยทางครอบครองปรปักษ์แล้วตั้งแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลให้ บ.ทราบ ดังนี้การที่พ.ครอบครองที่พิพาทในระหว่างเป็นความกันอยู่ จะถือว่าครอบครองโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนไม่ได้ การที่ได้เข้าครอบครองในพ.ศ.2506 ก็โดยการประมูลทำนาได้ คือ โดยความยินยอมของ บ. ค่าเช่าที่วางศาลก็เพื่อให้แก่ผู้ชนะคดี จึงถือว่าเข้าครอบครองแทนผู้ชนะคดีนั่นเอง เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้องของ พ. แม้จะไม่ได้ชี้ว่าที่พิพาทเป็นของ บ. แต่ พ. ก็เถึยงไม่ได้ว่า
บ.ไม่ได้เป็นเจ้าของที่พิพาท เพราะผลของคำพิพากษาย่อมผูกพัน พ. ว่า บ.มิสิทธิในที่พิพาทดีกว่า การที่ พ.ครอบครองที่พิพาทภายหลัง่จกาวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็เป็นการครอบครองสืบต่อมาจากการครอบครองในระหว่างคดี ต้องถือว่าครอบครองแทน บ.ผู้ชนะคดีอยู่นั่นเอง จะครอบครองช้านานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในเมื่อ พ.มิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือหรืออาศัยอำนาจใหม่จากบุคคลภายนอก พ.จะอ้างอายุความการแบ่งการครอบครองตามมาตรา 1395 มาใช้ยัน บ. ไม่ได้ บ.มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง
การที่ พ.เข้าทำนาพิพาทนับแต่ พ.ศ.2497 นั้น มิได้ตกลงประมูลค่าเช่ากับ บ.อีกจึงไม่ใช่เนื่องจากสัญญา แต่ก็ไม่เป็นการละเมิดเพราะเข้าครอบครองทำนาพิพาทด้วยความยินยอมของ บ.มาแต่ พ.ศ.2496 และการครอบครองในปีต่อ ๆ มา ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทน บ. ผู้ชนะคดี การที่ บ.ฟ้องเรียกเงินผลประโยชน์ในการที่ พ.ได้ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ปีพ.ศ.2497 เป็นต้นไปนั้น จึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406 เพราะการที่ พ.ได้รับประโยชน์จากการเข้าทำนาพิพาทซึ่งศาลพิพากษาว่าเป็นของบ.นั้น เป็นการได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่ บ.ต้องฟ้องเรียกเอาภายในกำหนด 1 ปีนับแต่สิ้นฤดูเก็บเกี่ยวฯของแต่ละปี ซึ่ง บ.ย่อมจะรู้ได้แล้วว่า ผู้ทำนาได้รับประโยชน์จากการทำนาเท่าใด ส่วนเงินผลประโยชน์สำหรับระยะเวลาที่พ้นกำหนด 1 ปีแล้ว ย่อมขาดอายุความเรียกคืน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 406, ม. 408, ม. 420, ม. 448, ม. 1367, ม. 1375, ม. 1381
ป.วิ.พ. ม. 145, ม. 271
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที