Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 406 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 406 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 406” คืออะไร? 


“มาตรา 406” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 406 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย
              บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มา เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 406” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 406 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 92/2565
ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การให้บริการรักษาความปลอดภัยต้องทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้...” อันมีความหมายว่า ในการให้บริการรักษาความปลอดภัย บริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้างต้องทำสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจะถือว่ามีการทำสัญญาเป็นหนังสือไม่ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า “ให้การให้บริการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือหรือมีรายการไม่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง เป็นโมฆะ” ฉะนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายคำฟ้องมีเพียงโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับจ้างฝ่ายเดียว ส่วนจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ว่าจ้าง ต้องถือว่าการให้บริการรักษาความปลอดภัยตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องไม่ได้ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นโมฆะตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้การให้บริการรักษาความปลอดภัยของโจทก์แก่จำเลยจะเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 มิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ แต่ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยซึ่งมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า สัญญารักษาความปลอดภัยต้องทำเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยต้องคืนทรัพย์ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ และเมื่อการรักษาความปลอดภัยมีลักษณะเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าทรัพย์สิ่งใดที่สามารถคืนกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ด้วย โดยการคืนทรัพย์สินในกรณีนี้สามารถทำได้โดยกำหนดให้จำเลยใช้เงินเท่ากับบริการที่จำเลยได้รับจากโจทก์ และเมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 172 วรรคสอง, ม. 406, ม. 587


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3395/2563
เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินรางวัลประจำปี) ที่จำเลยรับไปแล้วนั้น เป็นเงินที่จำเลยมีสิทธิได้โดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์มีหน้าที่จะต้องเบิกจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่จำเลย หลังจากจำเลยรับเงินดังกล่าวไปแล้ว แม้ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 11 และสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดพิจิตรจะมีหนังสือทักท้วงไปยังโจทก์ว่าการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวไม่ถูกต้อง โดยแจ้งว่าเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินรางวัลประจำปี) ต้องเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่สามารถเบิกจ่ายจากเงินสะสมได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้เงินที่จำเลยรับไปแล้วเป็นเงินที่ไม่ชอบ เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เบิกเงินดังกล่าวจากเงินสะสมซึ่งสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดพิจิตรอ้างว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบ ก็เป็นการทำงานที่บกพร่องของเจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เอง หาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยแต่อย่างใดไม่ และการยกเลิกคำสั่งของเทศบาลตำบลวังกรดที่อนุมัติให้จำเลยได้รับเงินประโยชน์ดังกล่าว โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจตามกฎหมายข้อใดที่จะยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการตัดสิทธิจำเลยที่จะได้รับเงินทั้งที่จำเลยมีสิทธิได้รับเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์เองก็ได้อนุมัติให้จำเลยรับเงินดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จำเลยยังคงมีสิทธิที่จะยึดถือเงินทั้งสองจำนวนไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินทั้งสองจำนวนคืนจากจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์จะต้องดำเนินการทางบัญชีเบิกจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษจากกองเงินงบประมาณที่ถูกต้องตามระเบียบการจ่ายเงินชดใช้คืนแก่กองเงินงบประมาณที่เจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เบิกผิดพลาดไป หาใช่มาฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยเช่นนี้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 406


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2563
แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าได้เชิดจำเลยแสดงออกเป็นตัวแทนโจทก์ทั้งสองในการทำสัญญาซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ สัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง ซึ่งจำเลยให้การยอมรับ และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ก็ตาม แต่จำเลยได้ให้การต่อสู้ด้วยว่าการที่จำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ สัญญากู้เงินและสัญญาจำนองดังกล่าวนั้นโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ เมื่อชำระครบถ้วนแล้วจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์คืนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งในคำฟ้องและทางนำสืบโจทก์ทั้งสองก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินกู้ แต่โจทก์ทั้งสองผ่อนชำระหนี้เพียง 55 งวด แล้วผิดนัดชำระหนี้ เป็นเหตุให้จำเลยต้องชำระหนี้ส่วนที่ค้างชำระและทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการผ่อนชำระหนี้เดือนละ 50,000 บาท ให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้จนกว่าจะชำระครบถ้วน อันเป็นกรณีที่ฟังได้ว่าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไปหรือตัวแทนต้องรับภาระเป็นหนี้ขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็น ตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการและเรียกให้ตัวการชำระหนี้แทนตนก็ได้ หรือถ้ายังไม่ถึงเวลากำหนดชำระหนี้ จะให้ตัวการให้ประกันอันสมควรก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ส่วนโจทก์ทั้งสองในฐานตัวการชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์อันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 และโจทก์ทั้งสองต้องคืนเงินที่จำเลยชำระให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้รวมทั้งดอกเบี้ยและต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้รวมทั้งดอกเบี้ยแทนจำเลย แต่โจทก์ทั้งสองกลับฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินมัดจำ ค่าจ้างตกแต่งอาคาร และเงินที่ผ่อนชำระแก่ธนาคารผู้ให้กู้ ซึ่งมิใช่เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนที่ตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น กรณีไม่อาจนำข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความมาปรับเข้ากับบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 ได้ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นพิพาทโดยนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 406 ฐานลาภมิควรได้มาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นที่พิพาท อันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่งป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา...” การอันจะเป็นลาภมิควรได้ ต้องเป็นกรณีที่ได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลผู้ชำระหนี้เสียเปรียบ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ไว้แทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์คืนแก่โจทก์ทั้งสองก็ต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองผ่อนชำระเงินกู้รวมทั้งดอกเบี้ยแก่ธนาคาร ท. ผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา และเป็นเหตุให้จำเลยต้องชำระเงินให้แก่ธนาคาร ท. และทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยต้องผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร ท. ซึ่งเป็นการชำระเงินและรับภาระหนี้แทนโจทก์ทั้งสอง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบ การที่ศาลชั้นต้นนำ ป.พ.พ. มาตรา 406 มาปรับใช้กับข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 406, ม. 810, ม. 816, ม. 821
ป.วิ.พ. ม. 142
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที