“มาตรา 401 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 401” คืออะไร?
“มาตรา 401” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 401 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการสมประโยชน์ของตัวการ และต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้จัดการจะเรียกให้ชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่ตนเช่นอย่างตัวแทนก็ได้ และบทบัญญัติมาตรา ๘๑๖ วรรค ๒ นั้น ท่านก็ให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
อนึ่ง ในกรณีที่กล่าวมาในมาตรา ๓๙๗ นั้น แม้ถึงว่าที่เข้าจัดการงานนั้นจะเป็นการขัดกับความประสงค์ของตัวการก็ดี ผู้จัดการก็ยังคงมีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้นอยู่ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 401” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 401 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2558
จัดการงานนอกสั่งนั้น ป.พ.พ. มาตรา 395 บัญญัติว่า "บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี..." ดังนั้น บุคคลใดที่จะเข้าทำกิจการแทนผู้อื่น เช่น โจทก์เข้าไปชำระค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา แทนจำเลยนั้น เข้าทำกิจการแทนได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าตัวการจะขอให้ทำหรือมีสิทธิทำแทนหรือไม่ ยิ่งในกรณีคดีนี้เข้าทำกิจการอันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย คือเป็นการจัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 และตามข้อบังคับของจำเลยและตาม ป.พ.พ. มาตรา 397 ถ้าโจทก์ไม่เข้าชำระค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าส่วนกลาง แทนจำเลยแล้ว อาจไม่ทันท่วงทีเป็นเหตุให้ทางการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวงตัดน้ำตัดไฟของอาคารชุด การที่เข้าทำนี้ยังเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องคำนึงว่าจะขัดกับความประสงค์ของตัวการคือจำเลย โจทก์เข้าทำได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะต้องการหรือไม่ และเมื่อโจทก์ทำการตามมาตรา 397 นี้แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่โจทก์อย่างเช่นโจทก์เป็นตัวแทนจำเลยได้ตามมาตรา 401
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 395, ม. 397, ม. 401
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11181/2555
ว. เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยแล้วผิดสัญญา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ว. ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่จำเลย แต่ ว. นำรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยมาให้โจทก์ซ่อมแล้วไม่ชำระค่าซ่อม โจทก์จึงต้องเก็บรักษารถยนต์ที่โจทก์ซ่อมซึ่งเป็นของจำเลยไว้ในอู่อีก ย่อมเป็นการที่โจทก์จัดการไปสมประโยชน์ของจำเลยและต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยที่พึงสันนิษฐานได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าบำรุงรักษารถยนต์ในส่วนค่าจอดรถจากจำเลยได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 401
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10624/2554
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนถัดไปต่อจากผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนแรก เป็นผู้จ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเพราะไม่รู้ว่าวินาศภัยอันเดียวกันนี้มีผู้คัดค้านเป็นผู้รับประกันภัยไว้ก่อนตน กรณีจึงเป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไป ทั้งๆ ที่ผู้ร้องไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคสามบัญญัติไว้ ถือได้ว่าการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องนั้น เป็นการสมประโยชน์ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นตัวการและต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือความประสงค์ตามที่พึงสันนิษฐานได้ กรณีตามคำร้องจึงเข้าเกณฑ์เป็นเรื่องจัดการงานนอกสั่งซึ่งก่อให้เกิดหนี้ที่ผูกพันผู้คัดค้านให้ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องได้ออกทดรองจัดการงานให้ผู้คัดค้านไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 401
การที่อนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไป ยังไม่คุ้มกับจำนวนวินาศภัย ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนถัดไปไม่รอเพื่อจ่ายในส่วนที่ยังขาดอยู่ถ้าหากมีแต่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งสิ้นไปทีเดียว จึงต้องถือว่าผู้ร้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยไม่มีหน้าที่ เมื่อไม่มีกฎหมายใดบัญญัติถึงกรณีนี้ในอันจะให้ผู้ร้องเรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินตามที่ได้จ่ายไปนั้นได้ การที่ผู้ร้องจ่ายไปนั้นจึงตกเป็นพับแก่ผู้ร้อง และมีคำชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องมานั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งศาลชอบที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดนั้นเสียได้ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสาม (2)(ข)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 401, ม. 870 วรรคหนึ่ง, ม. 870 วรรคสาม
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 40 วรรคสาม (2)(ข)