Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 392 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 392 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 392” คืออะไร? 


“มาตรา 392” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 392 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๖๙ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 392” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 392 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7195/2555
โจทก์ว่าจ้างจำเลยทำแม่พิมพ์พื้นเตารีดในราคา 100,000 บาท จำเลยทำเสร็จพร้อมกับได้รับค่าจ้างแล้ว หลังจากนั้นโจทก์จ้างจำเลยใช้แม่พิมพ์ดังกล่าวผลิตพื้นเตารีดโดยโจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระ คือแท่งทองแดงนำความร้อน 16,762 ชิ้น และจำเลยต้องผลิตพื้นเตารีดตามจำนวนแท่งทองแดงนำความร้อนดังกล่าวในราคาค่าจ้างชิ้นละ 32 บาท จำเลยผลิตเสร็จแล้วและแจ้งให้โจทก์ชำระค่าจ้าง 536,384 บาท แต่โจทก์ไม่ชำระ กลับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบแม่พิมพ์พร้อมทั้งแท่งทองแดงนำความร้อน 16,762 ชิ้น คืนโจทก์ จำเลยจึงใช้สิทธิยึดหน่วงแม่พิมพ์และแท่งทองแดงนำความร้อนอันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นเตารีด ต่อมาจำเลยได้แยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดจนไม่มีสภาพเป็นพื้นเตารีดอีกต่อไป ถือได้โดยปริยายว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกัน เมื่อโจทก์จำเลยคู่สัญญาไม่ได้มีข้อตกลงกันไว้และไม่มีทางจะบังคับเป็นอย่างอื่น ก็ต้องอนุโลมบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 คือ โจทก์จำเลยจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม สำหรับแม่พิมพ์หากส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคา 100,000 บาท
สัญญาที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยผลิตพื้นเตารีดเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้ว โจทก์กับจำเลยต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. 391 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ มาตรา 391 วรรคสี่ ยังบัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ ซึ่งมีความหมายว่า การเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นก่อนแล้ว กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ไม่ชำระหนี้ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213, 215, 216 เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ทำการผลิตพื้นเตารีดตามที่โจทก์สั่งเสร็จแล้วแต่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างซึ่งจำเลยทวงถามให้ชำระแล้ว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดก่อนมีการเลิกสัญญาแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้แม้ภายหลังโจทก์จำเลยจะเลิกสัญญาต่อกัน และแม้กรณีนี้จำเลยไม่ได้ส่งมอบพื้นเตารีดที่ผลิตเสร็จให้โจทก์ โดยจำเลยได้แยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดออกจากกันจนไม่มีสภาพเป็นพื้นเตารีดอีกต่อไป จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับการงานอันจำเลยได้กระทำให้ที่จำเลยจะมีสิทธิได้รับค่าแห่งการงานนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ตาม แต่จำเลยก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเสียหายส่วนนี้มาในคำให้การแล้ว ศาลจึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้จำเลย แล้วนำมาหักกับราคาแท่งทองแดงนำความร้อนที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ก่อนได้ ตามหลักในเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 392 ประกอบมาตรา 369
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 213, ม. 215, ม. 216, ม. 369, ม. 391, ม. 392, ม. 587


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2554
จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากโจทก์โดยชำระราคาเพียงบางส่วนจำนวน 300,000 บาท แล้วนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่บรรยายฟ้องถึงการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าที่ดินอันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายโดยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเพื่อให้ได้ที่ดินกลับคืนเท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญาอันมีผลให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกที่รับจำนองที่ดินไว้โดยมีมูลหนี้และโดยสุจริต โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ จึงต้องจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนอง
การชำระหนี้ระหว่างคู่สัญญาเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 392 และมาตรา 369 เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนองซึ่งโจทก์อาจถูกบังคับจำนองเพื่อให้ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนอง โจทก์จะต้องคืนเงินค่าที่ดินจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนองครบถ้วนแล้วจึงจะเป็นการกลับคืนสู่ฐานะเดิมที่ถูกต้อง การที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการขอให้ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนโจทก์โดยติดจำนองและให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินบางส่วนจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองครบถ้วนแล้วได้ แม้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้ฟ้องแย้งก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ. พ. มาตรา 142
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 391, ม. 392, ม. 369
ป.วิ.พ. ม. 142


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3235/2554
การให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการเลิกสัญญาจะซื้อจะขายเป็นการชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดจากการเลิกสัญญา คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องปฏิบัติต่อกันในลักษณะสัญญาต่างตอบแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 392 ประกอบมาตรา 391 และมาตรา 369 เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ให้จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงยังไม่มีหน้าที่ปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนโจทก์ทั้งสอง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ต่าง ๆ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินที่เคยตกลงซื้อจากโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป โดยมิได้ให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินมัดจำและเช็คที่ได้รับไว้จากจำเลย อันเป็นการชำระหนี้ต่างตอบแทนที่เกิดจากการเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะเดิมให้แก่จำเลยด้วยนั้นจึงไม่ชอบ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 369, ม. 391, ม. 392
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที