Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 390 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 390 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 390” คืออะไร? 


“มาตรา 390” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 390 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าในสัญญาใดคู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง ท่านว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก็แต่เมื่อบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้ ทั้งใช้ต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมดทุกคนด้วย ถ้าสิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่บุคคลคนหนึ่งในจำพวกที่มีสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว สิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่คนอื่น ๆ ก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 390” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 390 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8235/2555
การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน แจ้งต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน ส่งมอบกิจการและทรัพย์สินของห้างจำเลยที่ 1 ตามสัญญาให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยเท่ากับเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาเพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ ห. อ. ย. ป. และ จ. เป็นคู่สัญญาฝ่ายเดียวกันตกลงทำสัญญายินยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าเป็นผู้บริหารกิจการห้างจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำสัญญาโดยบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้ต้องอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 390 คือ ต้องใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยบุคคลฝ่ายเดียวกันทั้งหมดรวมกันใช้ โจทก์เพียงคนเดียวในฐานะส่วนตัวไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยลำพังได้
แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือกระทำการไม่ให้ผลของสัญญาบรรลุผลตามความประสงค์ของคู่สัญญาเป็นการเอารัดเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่าย ก็เป็นเรื่องที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาหรือขอให้ศาลบังคับคู่สัญญาให้ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิมาฟ้องขอให้เลิกสัญญาโดยขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 390, ม. 391


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5633 - 5638/2548
การไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/41 ทวิ นั้น ต้องกำหนดรายการปฏิเสธสิทธิดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา 90/42 (10) และเนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้เกี่ยวกับรายละเอียดในการชำระหนี้ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ภายใต้กรอบของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง กรณีใดที่กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วก็จะต้องนำบทบัญญัติในเรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นมาใช้บังคับ การเลิกสัญญาในกรณีที่คู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการมิได้บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 390 ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าในสัญญาใดคู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง ท่านว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก็แต่เมื่อบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้ ทั้งใช้ต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมดทุกคนด้วยกัน?" บทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่าการที่ลูกหนี้จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาก่อสร้างในโครงการบำบัดน้ำเสียกับผู้ร้องที่ 4 ซึ่งมีผลเท่ากับบอกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียได้นั้น ลูกหนี้กับบริษัท พ. และบริษัท ล. ซึ่งได้ตกลงทำสัญญากิจการร่วมค้าในลักษณะห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนจะต้องแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาด้วยกัน ลูกหนี้จะแสดงเจตนาไปโดยลำพังหาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 149, ม. 390, ม. 1025
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/41 ทวิ, ม. 90/42 (10)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9652/2539
ก่อนทำสัญญาเช่านั้นจำเลยได้ก่อสร้างอาคารพิพาทเสร็จแล้วเพียงแต่ยังมิได้ตบแต่งเท่านั้นโจทก์ตกลงจะชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารพิพาทให้แก่จำเลยเป็นเงิน1,000,000บาทโดยโจทก์จะจ่ายให้ในวันจดทะเบียนการเช่าแม้ตามสัญญาเช่าไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะไปจดทะเบียนการเช่าเมื่อใดแต่โจทก์กับจำเลยยอมรับกันว่าได้ตกลงกันจะไปจดทะเบียนการเช่าในวันที่5มกราคม2535ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์จะต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าอีก100,000บาทกับเงินช่วยค่าก่อสร้างจำนวน1,000,000บาทให้แก่จำเลยตามที่ตกลงไว้ในสัญญาเช่าแต่ปรากฏว่าในวันนัดจดทะเบียนการเช่าดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่ค้างชำระอยู่100,000บาทและเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารพิพาทให้แก่จำเลยและจำเลยเองก็ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนการเช่าให้แก่โจทก์ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาเช่ากันอีกต่อไปทั้งหลังจากนั้นโจทก์และจำเลยต่างปล่อยปละละเลยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาโดยมิจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการเช่าและมิได้เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญาจนเวลาผ่านไปเนิ่นนานจนถึงวันที่11มิถุนายน2535โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าขอบอกเลิกสัญญาเช่าและให้ชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้ากับค่าใช้จ่ายในการลงทุนให้แก่โจทก์กรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้วสัญญาเช่าจึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไปฝ่ายใดจะอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหาได้ไม่ดังนั้นโจทก์และจำเลยต้องคืนสู่ฐานะดังเดิมที่เป็นอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา391 สัญญาเช่าได้เลิกกันโดยปริยายและโจทก์กับจำเลยต้องคืนสู่ฐานะดังเดิมที่เป็นอยู่จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่เวลาที่รับไว้และจำเลยยังต้องใช้ค่าก่อสร้างตบแต่งซึ่งโจทก์ได้ใช้เงินไปในการงานนั้นแต่ค่าเสียหายอื่นๆนอกจากนี้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้เพราะจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 390, ม. 391, ม. 420

 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที