Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 388 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 388 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 388” คืออะไร? 


“มาตรา 388” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 388 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญานั้น ว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ จะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลามีกำหนดก็ดี หรือภายในระยะเวลาอันใดอันหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ก็ดี และกำหนดเวลาหรือระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ มิพักต้องบอกกล่าวดังว่าไว้ในมาตราก่อนนั้นเลย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 388” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 388 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6939/2552
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกับจำเลย ย่อมแสดงว่าโจทก์ผู้จะซื้อเชื่อถือข้อสัญญาที่ทำกับจำเลยและมุ่งหมายจะได้รับประโยชน์จากการใช้สอย โดยมั่นใจว่าโครงการของจำเลยจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามที่ระบุในสัญญา กำหนดระยะเวลาก่อสร้างและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของสัญญา หาเป็นเพียงการประมาณเวลาที่จะแล้วเสร็จมิใช่กำหนดเวลาตายตัวแต่อย่างใดจำเลยเป็นเจ้าของโครงการขนาดใหญ่ มีประสบการณ์ในการจัดสรรที่ดินมาแล้วหลายโครงการย่อมทราบถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการขอใบอนุญาตจัดสรรเป็นอย่างดีจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องขวนขวายเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา จำเลยจะอ้างเหตุเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินล่าช้าเพื่อขยายระยะเวลาก่อสร้างและโอนกรรมสิทธิ์ออกไปหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงปรากกฎว่าหลังจากโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้น 29 งวดแล้ว โจทก์ได้รับการติดต่อจากจำเลยว่าหากจะผ่อนค่าบ้านต่อไปก็ผ่อนได้ โดยจำเลยจะนำเงินดังกล่าวไปเป็นทุนสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ โจทก์จึงชำระเงินให้แก่จำเลยอีก 5 งวด เป็นเงิน 75,000 บาท การที่โจทก์ขวนขวายหาเงินมาผ่อนชำระให้จำเลยอีก 5 งวด ทั้ง ๆ ที่ผ่อนเงินดาวน์มาครบแล้ว ย่อมแสดงว่าขณะนั้นโจทก์ต้องการจะรับโอนกรรมสิทธิ์และเข้าอยู่อาศัยแต่จำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ ทำให้โจทก์ต้องหยุดผ่อนชำระ จนกระทั่งปี 2543 หลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้วถึง 3 ปีเศษ และเป็นเวลาหลังจากที่โจทก์หยุดผ่อนชำระไปแล้วกว่า 2 ปี จำเลยเพิ่งมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ การที่โจทก์ยังชำระเงินให้แก่จำเลยต่ออีก 5 งวด หลังจากชำระเงินดาวน์เสร็จสิ้นแล้วจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ผู้จะซื้อมิได้ถือเอาระยะเวลาเป็นสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่สามารถก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาตามข้อตกลง จำเลยย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 369, ม. 388, ม. 456 วรรคสอง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6329/2552
สิทธิในการเลิกสัญญาของคู่สัญญาอาจเกิดจากข้อกำหนดในสัญญาหรือโดยบทบัญญัติของกฎหมายอันเป็นหลักทั่วไปตามมาตรา 387 ถึง 389 หรือตามบทบัญญัติว่าด้วยเอกเทศสัญญา ลักษณะเช่าทรัพย์ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าโจทก์ปฏิบัติต่อจำเลยไม่เป็นไปตามฐานะผู้ให้เช่าที่ควรให้ความสะดวกแก่ผู้เช่าตามสมควร แต่กลับไม่ให้ความสะดวกในการที่จำเลยให้เช่าช่วงนั้น เมื่อตามสัญญาเช่าไม่มีข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุดังที่จำเลยกล่าวอ้างทั้งตามหนังสือบอกเลิกสัญญาของจำเลยก็มิได้ระบุว่าโจทก์กระทำผิดสัญญาข้อใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา หนังสือบอกเลิกสัญญาของจำเลยเป็นเพียงคำเสนอขอเลิกสัญญา เมื่อโจทก์ไม่ตกลงเลิกสัญญาตามคำเสนอของจำเลย สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงหาได้เลิกกันไม่
แม้ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 40 กำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินมีหน้าที่ต้องเสียก็ตาม แต่ตามสัญญาเช่าข้อ 15 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยเป็นผู้ชำระ เมื่อจำเลยไม่ชำระ โจทก์ก็ต้องชำระแทนและเรียกเอาจากจำเลยได้กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ให้เช่าฟ้องจำเลยผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
การฟ้องเรียกค่าปรับฐานชำระค่าเช่าล่าช้านั้นมิใช่เป็นการเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) แต่ถือเป็นคดีที่โจทก์ผู้ให้เช่าฟ้องจำเลยผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าจึงต้องฟ้องภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามมาตรา 563
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/30, ม. 193/33 (3), ม. 386, ม. 387, ม. 388, ม. 389, ม. 563
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 40


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3532/2552
โจทก์ทั้งสองกับจำเลยประสงค์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาซื้อขายเป็นสำคัญ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่สามารถชำระราคาและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาได้ โจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาตกลงขยายระยะเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินออกไป โดยโจทก์ทั้งสองยอมเสียค่าตอบแทนในการขยายระยะเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือรวม 14 ครั้ง รวมเวลานับจากกำหนดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ครั้งแรกถึง 8 ปีเศษ แม้ตามสัญญาจะซื้อขายไม่ได้ระบุชัดแจ้งว่า หากโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาที่เหลือหรือค่าตอบแทนในการขยายระยะเวลาให้แก่จำเลยผู้ขายตามกำหนด สัญญาจะซื้อขายเป็นอันเลิกกันทันทีหรือจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่ตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญานั้นเห็นได้ว่า โดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาแสดงไว้มิใช่ว่าจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่การชำระหนี้ ณ เวลาที่กำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 388 ดังนั้น การที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 387 หากจำเลยต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองชำระราคาที่ดินที่เหลือภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน ถ้าโจทก์ทั้งสองไม่ชำระภายในเวลาที่กำหนด จำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองได้ตามมาตรา 387 ซึ่งตามหนังสือบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำของจำเลย จำเลยหาได้บอกกล่าวกำหนดเวลาให้โจทก์ทั้งสองนำเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือมาชำระให้แก่จำเลยเสียก่อนไม่ จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสอง แต่การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองกับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย หนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์ทั้งสองส่งให้แก่จำเลยโดยมีผู้รับแทนในวันที่ 8 กรกฎาคม 2541 จึงถือว่าโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเลิกสัญญากันในวันดังกล่าว
เมื่อสัญญาจะซื้อขายเลิกกันแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไปตามมาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินรวมทั้งเงินมัดจำที่โจทก์ทั้งสองชำระให้แก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไป ส่วนเงินค่าตอบแทนในการขยายระยะเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินออกไปซึ่งคิดเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ที่โจทก์ทั้งสองชำระให้แก่จำเลยเป็นรายเดือนเรื่อยมานั้น หากมีการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาทุกฉบับโดยครบถ้วน โจทก์ทั้งสองหามีสิทธิเรียกเงินค่าตอบแทนดังกล่าวนี้คืนจากจำเลยแต่อย่างใด เงินค่าตอบแทนดังกล่าวมิใช่เงินค่าที่ดินเพิ่ม แต่ถือเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นไปแล้วเพื่อเป็นการตอบแทนการที่จำเลยยินยอมให้โจทก์ทั้งสองขยายระยะเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินออกไป ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ตกเป็นผู้ผิดสัญญา ดังนั้น เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าตอบแทนดังกล่าวคืนจากจำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 387, ม. 388, ม. 391
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที