Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 386 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 386 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 386” คืออะไร? 


“มาตรา 386” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 386 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
              แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 386” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 386 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2564
บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีผลผูกพันกัน และคู่สัญญามีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 และมาตรา 386 ข้อความในบันทึกข้อตกลงมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า โจทก์มีความสนใจที่จะลงทุนในโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าของจำเลยซึ่งประกอบด้วยที่ดิน 2 แปลง โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องเข้าศึกษาข้อมูลและตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไปเสียก่อน ซึ่งในข้อ 1.3 ระบุว่า หากผลการศึกษาโครงการเป็นที่น่าพอใจแก่โจทก์ คู่สัญญาจะทำการเจรจาทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าต่อไป และข้อ 1.4 ระบุว่า จำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิยกเลิกบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ได้ หากผลการศึกษาโครงการพบว่าไม่เป็นที่น่าพอใจแก่โจทก์ในด้านใด ๆ ดังนี้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้สิทธิโจทก์ในการเลิกบันทึกข้อตกลงไว้ โดยอาศัยความพึงพอใจของโจทก์ในการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในข้อ 4 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เงินจำนวน 35,000,000 บาท ที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้ เป็นเงินประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่โจทก์เข้าศึกษาโครงการ ในกรณีที่ผลการศึกษาโครงการไม่เป็นที่น่าพอใจและโจทก์แจ้งไม่ประสงค์จะเข้าลงทุน ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุดลงทันที โดยคู่สัญญาตกลงจะไม่เรียกร้องสิทธิหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อกัน และจำเลยต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน ประกอบกับในรายงานประชุมคณะกรรมการของโจทก์มีข้อความระบุชัดว่า โจทก์ยังไม่ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย และคณะกรรมการของโจทก์ขอเสนอให้เปลี่ยนจากการวาง “เงินมัดจำ” ตามที่จำเลยเสนอมา เป็นการวาง “เงินประกัน” ความเสียหายในการเข้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแทน แสดงให้เห็นว่า หากโจทก์จะซื้อโครงการของจำเลย จะต้องมีการเจรจาตกลงในข้อสาระสำคัญกันให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งต่อไป ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 366 ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าโครงการของจำเลยไม่เหมาะสมที่จะลงทุน เป็นเหตุให้คณะกรรมการของโจทก์ได้บอกเลิกบันทึกข้อตกลงไปยังจำเลยพร้อมแจ้งให้คืนเงินประกัน 35,000,000 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิเลิกบันทึกข้อตกลงตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลง หาใช่เป็นการใช้สิทธิเลิกตามอำเภอใจหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ เมื่อสัญญาเข้าร่วมทุนหรือซื้อโครงการระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์ และตามบันทึกข้อตกลงได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเพียงแต่คืนเงินประกันแก่โจทก์ภายใน 7 วัน โดยไม่มีดอกเบี้ย จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินประกันดังกล่าว เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินประกันภายใน 7 วัน จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยไม่คืนเงินประกันภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง สำหรับค่าเสียหาย 10,000,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นค่าเสียหายที่จำเลยไม่ยอมคืนเงินประกัน ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในโครงการอื่นนั้น ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 4 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์จะเข้าลงทุนในโครงการของจำเลย ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุดลงทันที จำเลยเพียงแต่คืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 7 วันเท่านั้น โดยคู่สัญญาจะไม่เรียกร้องสิทธิหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อกันอีก ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 204 วรรคสอง, ม. 224 วรรคหนึ่ง, ม. 366, ม. 386


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2563
บันทึกการส่งมอบรถยนต์มีข้อความว่า ข้าพเจ้าประสงค์ขอเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อคืนแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะรับผิดชอบที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อกรณีที่เจ้าของได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาของข้าพเจ้า โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่า บันทึกการส่งมอบรถยนต์เพื่อเลิกสัญญา และระบุสถานที่รับรถว่า เป็นการส่งมอบคืน ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ เมื่อสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 กำหนดว่า ผู้เช่าซื้อฝ่ายเดียวจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ โดยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนให้เจ้าของ ณ ภูมิลำเนาของเจ้าของ และผู้เช่าตกลงที่จะชำระบรรดาหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่เจ้าของจนครบถ้วน และหากเจ้าของนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขาย หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชำระส่วนที่ขาดนั้นให้แก่เจ้าของจนครบถ้วน การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ค้ำประกันย่อมแปลความหมายได้ว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้เจ้าของ และตกลงจะรับผิดในบรรดาหนี้ที่เกิดขึ้นจากการบอกเลิกสัญญา อันเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 9 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันตามข้อสัญญาดังกล่าว หาใช่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยคู่สัญญาสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาได้จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาภายหลัง ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด การที่โจทก์เพิ่งมีหนังสือแจ้งสิทธิการซื้อทรัพย์สินลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ส่งไปยังจำเลยที่ 2 ตามที่อยู่ที่ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันโดยหนังสือดังกล่าวถูกส่งคืนกลับต้นทาง และโจทก์ขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 หลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 อีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์อันเป็นค่าสินไหมทดแทนเพียง 60 วัน เท่านั้น ส่วนค่าขาดราคาถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ค่าขาดราคา ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 386, ม. 573, ม. 686
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 252


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 386, ม. 573
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที