Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 383 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 383 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 383” คืออะไร? 


“มาตรา 383” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 383 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป
              นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา ๓๗๙ และ ๓๘๒ ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 383” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 383 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2565
ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของ จ. ว่า จำเลยที่ 4 ปลอมลายมือชื่อตน ทำรายงานการประชุมเท็จ และนำห้องชุด 20 ห้องของจำเลยที่ 5 ไปจดทะเบียนจำนองกับโจทก์ตามฟ้อง และ จ. มาฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ผลแห่งคดีเป็นเช่นไร ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวนั้น ก็เป็นเรื่องการดำเนินการภายในของจำเลยที่ 5 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ โดยโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองห้องชุด 20 ห้อง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร ข้ออ้างของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ โจทก์มิอาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 5 ดังที่จำเลยที่ 5 ฎีกา ประกอบกับโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 5 โดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันโดยไม่เพิ่มวงเงิน รวม 20 ห้องชุด และตามสัญญาค้ำประกัน ตามที่โจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 379, ม. 383, ม. 705, ม. 733


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2565
ผลิตภัณฑ์สินค้ายี่ห้อ ค. กับสินค้ายี่ห้อ ช. เป็นสินค้าประเภทนาฬิกาและเครื่องประดับเช่นเดียวกัน ในการพิจารณาว่าคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หมายถึงบริษัทใดเป็นเรื่องที่ศาลต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ซึ่งโดยปกติของการดำเนินธุรกิจย่อมนับว่าบริษัทที่ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทเดียวกันสามารถใช้ทดแทนกันได้เป็นคู่แข่งทางการค้าไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งวัตถุประสงค์ของสัญญาว่าจ้างซึ่งโจทก์ตกลงจ่ายค่าจ้างแก่จำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงินสูง ก็เพื่อให้จำเลยที่ 2 มีส่วนในการส่งเสริมการขายและยกภาพลักษณ์ยี่ห้อ ช. ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นเป็นยี่ห้อชั้นนำในท้องตลาด ดังนั้น การที่จะนับว่ายี่ห้อ ค. ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทเดียวกับสินค้ายี่ห้อ ช. เป็นคู่แข่งทางการค้ากันจึงเป็นเจตนาที่คาดหมายได้ในทางสุจริต และเกณฑ์การพิจารณาในเรื่องนี้ต้องถือเอาความเข้าใจของวิญญูชนดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้นเป็นเกณฑ์กำหนดความประสงค์ในทางสุจริต ไม่อาจรับฟังเฉพาะความรู้สึกหรือความเข้าใจของจำเลยที่ 2 เพียงฝ่ายเดียวหรือยึดข้อมูลการจัดอันดับสินค้าดังกล่าวมาเป็นข้อพิจารณา จึงฟังได้ว่า สินค้ายี่ห้อ ค. เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่เป็นคู่แข่งของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ลงภาพที่ตนสวมใส่เครื่องประดับยี่ห้อ ค. ในอินสตาแกรมส่วนตัวจึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาข้อ 6.6 ต่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาต่อโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ เมื่อจำเลยทั้งสองประพฤติผิดสัญญา การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยข้อสัญญาในส่วนของค่าเสียหาย เป็นการกำหนดความรับผิดในการที่ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลอาจพิจารณาปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383เมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระค่าจ้างตามข้อตกลงในสัญญาได้อีก แต่อย่างไรก็ดีเมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นค่าการงานอันได้กระทำให้ ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม จำเลยทั้งสองคงมีสิทธิได้รับการใช้เงินตามควรค่าแห่งงานที่จำเลยทั้งสองได้กระทำไปแล้วเท่านั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 368, ม. 383, ม. 391


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2565
หากโจทก์ผู้รับจ้างปฏิบัติผิดข้อกำหนดตามที่ระบุในสัญญา จำเลยผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้า จึงเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับและค่าปรับที่จำเลยเรียกจากโจทก์สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยคิดค่าปรับจากโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดค่าปรับซึ่งเป็นเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืน เพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 383 วรรคหนึ่ง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที