Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 380 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 380 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 380” คืออะไร? 


“มาตรา 380” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 380 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
              ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้น ท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 380” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 380 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7620/2559
การที่สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุความว่า พนักงานตกลงที่จะทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงาน หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลา พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงกำหนดความเสียหายเพื่อการผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อตกลงเบี้ยปรับเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และ 380 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง กล่าวคือศาลแรงงานกลางจะต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เฉพาะความเสียหายที่คำนวณได้เป็นเงินเท่านั้น นอกจากนี้เบี้ยปรับยังเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย จึงชอบที่จะพิจารณามูลเหตุการผิดสัญญาของลูกหนี้ว่าเป็นการจงใจกระทำผิดสัญญาเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะใช้ดุลพินิจไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยหาได้ไม่เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้นศาลแรงงานกลางจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่จุดมุ่งหมายของข้อสัญญาที่ให้ทำงานครบ 2 ปี ความจำเป็นที่ต้องทำสัญญาไว้เช่นนี้ ความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ต่อจำเลย ความเสียหายอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน รวมตลอดถึงเหตุผลที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานว่าเป็นการกระทำไปโดยจงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เสียก่อน แล้วใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายกำหนดเบี้ยปรับเป็นจำนวนพอสมควร
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 379, ม. 380, ม. 383


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14175/2558
หลังจากโจทก์ทราบว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราให้แก่โจทก์ครบถ้วน โจทก์ได้สั่งซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากบุคคลอื่นมาปลูกทดแทนลงในแปลงเพาะปลูกที่โจทก์ไถดินจัดเตรียมไว้ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการไถดินเตรียมแปลงเพาะปลูกแล้ว ย่อมไม่มีความเสียหายเป็นค่าไถ่ดินเตรียมแปลงเพาะปลูกที่โจทก์จะมาเรียกร้องให้จำเลยรับผิด
จำเลยทำบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเดิมยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและยินยอมชดเชยค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วยการส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราเพิ่มอีกจำนวน 20,000 ต้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อให้จำเลยรับผิดสัญญาเดิม มิใช่ให้รับผิดตามบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเดิม โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยรับผิดในต้นพันธุ์ยางพาราจำนวน 20,000 ต้น เพราะต้นพันธุ์ยางพาราดังกล่าวเป็นเพียงค่าเสียหายที่จำเลยตกลงว่าจะชดเชยให้แก่โจทก์ ไม่ใช่ต้นพันธุ์ยางพาราที่จำเลยจะต้องส่งมอบตามสัญญาเดิม
เบี้ยปรับนั้น เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา เจ้าหนี้ย่อมเรียกเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายได้เท่านั้น ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสอง เมื่อศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการที่โจทก์ต้องซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากผู้อื่นในราคาที่สูงขึ้น เป็นเงิน 1,988,595 บาท อันเป็นค่าเสียหายยิ่งกว่าเบี้ยปรับแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนอีกได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 215, ม. 222, ม. 380


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6030/2554
แม้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ โดยยึดเอาเบี้ยปรับในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหาย และพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสองก็ตาม แต่เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ 2,000,000 บาท นั้นเป็นจำนวนพอสมควรและไม่สูงเกินส่วนแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายยิ่งกว่าจำนวนเบี้ยปรับนั้น

แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แต่ฝ่ายเดียวตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาจะซื้อขาย ข้อ 3 แต่ก็เป็นความรับผิดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะพึงต้องปฏิบัติตามสัญญาในฐานะผู้ขายเมื่อไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับในส่วนนี้ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ระบุเงื่อนไขข้อนี้ลงไว้ในคำพิพากษาจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 แล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 142
ป.พ.พ. ม. 380 วรรคสอง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที