Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 375 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 375 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 375” คืออะไร? 


“มาตรา 375” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 375 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 375” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 375 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2565
บันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง มีข้อความระบุไว้ในสาระสำคัญว่า โจทก์ทั้งสิบห้าตกลงถอนฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่พิพาทและถวายเงิน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์แก่วัดแก้วฟ้าทันทีที่ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในโครงการซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัดแก้วฟ้า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงมีโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้องเป็นคู่สัญญาระหว่างกัน โดยมีวัดแก้วฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งวัดแก้วฟ้ามีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาโดยตรงได้ แม้ผู้ร้องกับฝ่ายโจทก์จะไม่มีมูลหนี้ต่อกันและกรณีมิใช่สัญญาให้ที่ผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินดังกล่าวแก่วัดแก้วฟ้าจึงไม่ตกอยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 523 ทั้ง ส. ตัวแทนวัดแก้วฟ้าแถลงต่อศาลชั้นต้นในวันนัดพร้อมว่า วัดแก้วฟ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี หากจะให้วัดแก้วฟ้าชี้แนวเขตที่ดินเพื่อรับเงินดังกล่าว โดยยังไม่ทราบว่าจะนำเงินไปดำเนินการในกิจการใด ไม่สามารถกระทำได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 วัดแก้วฟ้ายื่นใบแจ้งความประสงค์ต่อศาลชั้นต้นขอรับเงินดังกล่าวซึ่งผู้ร้องวางไว้ อันเป็นการแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากบันทึกข้อตกลงซึ่งโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง ทำขึ้นระหว่างกัน สิทธิของวัดแก้วฟ้า ตามบันทึกข้อตกลงย่อมเกิดมีขึ้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรสำหรับที่ดินในโครงการที่กล่าวไว้ในบันทึกข้อตกลงซึ่งมีแนวเขตที่ดินที่ผู้ร้องประสงค์ให้วัดแก้วฟ้ามาชี้ระวังแนวเขตที่ดินด้วย เช่นนี้ ไม่ว่าผู้ร้องจะต้องรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 2626 และ 2627 ของผู้ร้องตามแนวตะเข็บที่ดินที่ติดกับลำรางสาธารณประโยชน์ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างที่ดินของผู้ร้องกับวัดแก้วฟ้าออกไปเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 49728 หรือไม่ก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในโครงการซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัดแก้วฟ้า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อันเป็นเงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงซึ่งระบุให้ผู้ร้องต้องถวายเงินแก่วัดแก้วฟ้า ผู้ร้องจึงต้องผูกพันและมีหน้าที่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ผู้ร้องหาอาจระงับสิทธิของวัดแก้วฟ้าโดยขอรับเงินที่วางไว้คืนไปจากศาลได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 375โจทก์ทั้งสิบห้า จำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง ทำบันทึกข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการถอนฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่พิพาทและถวายเงิน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์แก่วัดแก้วฟ้า ด้วยเจตนาให้มีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นสืบเนื่องจากบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบห้าในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์เพื่อให้เกิดสภาพบังคับตามบันทึกข้อตกลงได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 374, ม. 375, ม. 523


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13875/2557
สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ หากโจทก์ต้องชำระหนี้จากการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อบริษัท อ. จำเลยที่ 1 จะรับผิดชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์นั้นเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงจึงมิใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอนั้น เมื่อบริษัท อ. มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับอ้างว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท อ. และเมื่อโจทก์ชำระเงินจำนวน 10,000,000 บาท ให้แก่บริษัทดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้จำนอง และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จำนำ ย่อมต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน สัญญาจำนอง และสัญญาจำนำด้วย
จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า บริษัท อ. เป็นฝ่ายผิดสัญญากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีความรับผิดต่อบริษัท อ. โดยจำเลยที่ 1 ทำหนังสือแจ้งให้โจทก์ระงับการจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันแล้วนั้น เห็นว่า ข้อต่อสู้ดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท อ. ซึ่งตามคำขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะโต้แย้งหรือยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้กับโจทก์ในการที่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้หรือโต้แย้งกับบริษัท อ. เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องไปว่ากล่าวเอากับบริษัท อ. เองต่างหาก จำเลยทั้งห้าจะอ้างเหตุดังกล่าวให้ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์มิได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 361, ม. 375


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12616/2555
การตกลงกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 นอกจากเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แล้ว ยังมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามมาตรา 374 ด้วย โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 4 ให้สั่งจ่ายเช็คค่างวดงานก่อสร้างแก่โจทก์โดยตรง อันเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อสิทธิของโจทก์ได้เกิดมีขึ้นแล้ว จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 คู่สัญญาย่อมไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์นั้นในภายหลังได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งระงับการโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างโดยให้จำเลยที่ 4 ส่งเงินค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยตรง จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 375 ไม่มีผลผูกพันโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 306, ม. 374, ม. 375
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที