Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 373 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 373 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 373” คืออะไร? 


“มาตรา 373” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 373 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ความตกลงทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉล หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนนั้น ท่านว่าเป็นโมฆะ

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "โมฆะ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "โมฆะ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 373” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 373 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942 - 10943/2558
แม้จำเลยที่ 2 จะแปรรูปเป็นบริษัทไปแล้วแต่มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติก็ยังกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เช่นเดิม เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง
ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่าจำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือว่าเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้น แม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณี ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 3 ชำระแทนเป็นการไม่ชอบเนื่องจากกรณีไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 57 (3) ก
ป.พ.พ. ม. 373, ม. 374
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 4, ม. 5 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 4


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15235/2553
แม้การขนส่งสินค้าตามฟ้องผู้ขายหรือผู้เอาประกันภัยตกลงว่าจ้างจำเลยให้ทำการขนส่งแบบสินค้าทั่วไป โดยมีเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าที่ขนส่งก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาสินค้าตามฟ้องอันเป็นการผิดวิสัยผู้ประกอบวิชาชีพขนส่งทำให้สินค้าตามฟ้องสูญหาย ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สัญญาขนส่งทางอากาศตามฟ้องมีข้อตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อการขนส่งสินค้าครั้งนี้ แต่สัญญาขนส่งทางอากาศเป็นลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 373 ดังนั้น ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งทางอากาศตามฟ้อง ย่อมไม่อาจใช้บังคับได้ในกรณีที่ผู้ขนส่งกระทำการโดยฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ข้อจำกัดดังกล่าวจึงไม่อาจใช้บังคับแก่จำเลยได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 373


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5397/2553
โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่า จำเลยทั้งสองกระทำการโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไปบางส่วนระหว่างการขนส่งสินค้า จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตน ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าพิพาทสูญหายจากการกระทำโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองสามารถยกข้อตกลงจำกัดความรับผิดด้านหลังใบรับขนของทางอากาศขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 373
ป.วิ.พ. ม. 84/1
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที