“มาตรา 372 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 372” คืออะไร?
“มาตรา 372” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 372 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่
ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดี หรือใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมา หรือแกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดี มากน้อยเท่าไร จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้ตอบแทน วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยังค้างชำระอยู่นั้นตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิต้องรับผิดชอบ ในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่รับชำระหนี้“
อ่านบทความเรื่อง : 5 เหตุที่ทำให้หนี้ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้สิ้นสุดลง คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 372” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 372 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10514 - 10515/2558
จำเลยร่วมถูกหมายเรียกเข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนอันเป็นกรณีร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ซึ่งตามมาตรา 58 ให้ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (3) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การ ก็หาหมดสิทธิที่จะขอศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอมาถูกต้องในระหว่างพิจารณาคดี จำเลยร่วมจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความชอบแล้ว
สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่า ให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ตามแบบแปลนท้ายสัญญาเช่า โดยมีการกำหนดเวลาเริ่มลงมือก่อสร้างและเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จไว้ การที่โจทก์ไม่สามารถเริ่มลงมือก่อสร้างได้ สืบเนื่องมาจากพื้นที่เช่าได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานภายหลังจากทำสัญญาเช่าแล้ว การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ของโจทก์เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาเช่าย่อมเป็นไปไม่ได้ ถือได้ว่าการชำระหนี้โดยการปฏิบัติตามสัญญากลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ แต่สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญามีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนกัน แม้จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็หามีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 372 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาค่าตอบแทนการเช่าที่ชำระไปแล้วในวันทำสัญญาคืนจากจำเลยที่ 1 ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 219, ม. 372, ม. 537
ป.วิ.พ. ม. 57 (3), ม. 58
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13357/2557
เมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตลอดแล้ว แสดงให้เห็นเจตนาว่าโจทก์ประสงค์จะนำที่ดินทั้งหมดกลับมาขายด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีทยอยไถ่ถอนที่ดินจากธนาคารทีละจำนวน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายผ่อนผันเวลาให้แก่กันเช่นนี้ จะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ หากจำเลยทั้งสามผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ แต่โจทก์หาได้ดำเนินการไม่ และการที่จำเลยทั้งสามโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ซึ่งที่ดินดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยทั้งสามเป็นการพ้นวิสัยไปด้วย คู่ความทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ และสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมตกไปไม่มีผลบังคับ เช่นนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 372, ม. 391, ม. 850
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6237/2555
ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาจ้างพัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้าน โจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่จะถูกเวนคืนเพื่อทำถนนเพียงแต่ยังไม่มีการสำรวจแนวเขตถนนที่แน่นอน เมื่อภายหลังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงผ่านที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสี่จึงไม่สามารถส่งมอบที่ดินพร้อมบ้านแก่โจทก์เพื่อได้ใช้ประโยชน์ตามสัญญา การชำระหนี้ย่อมตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้ จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตา 372 วรรคแรก โจทก์มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระคืนจากจำเลยทั้งสี่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 372 วรรคแรก, ม. 456 วรรคสอง