Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 371 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 371 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 371” คืออะไร? 


“มาตรา 371” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 371 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บทบัญญัติที่กล่าวมาในมาตราก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทนมีเงื่อนไขบังคับก่อน และทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ
              ถ้าทรัพย์นั้นเสียหายเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้มิได้ และเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้โดยลดส่วนอันตนจะต้องชำระหนี้ตอบแทนนั้นลง หรือเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ แล้วแต่จะเลือก แต่ในกรณีที่ต้นเหตุเสียหายเกิดเพราะฝ่ายลูกหนี้นั้น ท่านว่าหากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่ “

 

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติม ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 371” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 371 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2554
จำเลยทำคันดินริมแม่น้ำแควน้อยมีผลทำให้ที่ดินที่โจทก์ตกลงจะซื้อจากจำเลยมีสภาพด้อยลงกว่าในขณะทำสัญญา ถือได้ว่าเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินตามสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยจะโทษโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 371 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิเลือกที่จะเลิกสัญญาหรือเรียกให้จำเลยชำระหนี้ด้วยการจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านแก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่โดยลดส่วนหนี้ค่าราคาที่ดินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยได้ เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญา โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว แม้สัญญาจะซื้อขายมีข้อตกลงว่าหากจำเลยผู้จะขายปฏิบัติผิดสัญญา ผู้จะขายตกลงคืนเงินที่ได้รับชำระไว้แล้วพร้อมดอกเบี้ยก็เป็นเพียงทางเลือกทางหนึ่งมิได้เป็นข้อสัญญาจำกัดหรือเป็นการสละสิทธิของโจทก์ในการเลือกใช้สิทธิ
จำเลยทำคันดินขึ้นสูงถึง 4 เมตร เป็นสิ่งกำบังไม่ให้โจทก์สามารถมองไปยังแม่น้ำแควน้อยได้โดยสะดวกเช่นที่เป็นมาแต่เดิม แม้โจทก์มิได้แจ้งหรือโต้แย้งจำเลย จำเลยก็ไม่อาจเรียกให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่เหลือเต็มจำนวน การที่จำเลยเรียกให้โจทก์ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินและให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่เหลือเต็มจำนวนตามสัญญาจึงเป็นการเรียกให้โจทก์ชำระหนี้ต่างตอบแทนโดยไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิปฏิเสธได้ และไม่ถือว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาการที่จำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ก็ไม่เป็นผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินและเรียกค่าเสียหาย
โจทก์ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพิ่มแล้ว โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง และไม่ได้ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด คำสั่งของศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของโจทก์ชอบแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบที่ไม่แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาให้โจทก์ทราบ แต่การที่จะแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด จึงไม่สมควรแก้ไข
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 371
ป.วิ.พ. ม. 27


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 155/2535
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ ข้อ 3 ระบุว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะตกไปอยู่แก่ผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อชำระราคาตามเงื่อนไขครบถ้วน ข้อ 6 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดขาดการชำระเงินงวดใด จำนวนใด ผู้ขายย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลืออยู่ในขณะนั้นเสียโดยครบถ้วนโดยพลันก็ได้นั้นมีสาระสำคัญแตกต่างกับสัญญาเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 572,574 จึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข เมื่อในระหว่างที่ยังชำระเงินค่างวดอยู่รถยนต์ที่ซื้อขายได้สูญหายไปเพราะถูกคนร้ายลัก แม้จะไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 5 โดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันสัญญาดังกล่าวต้องร่วมรับผิดด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 368, ม. 371, ม. 453, ม. 459, ม. 572, ม. 680


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2669/2524
ตามสัญญาข้อ 8 เมื่อผู้ขายผิดสัญญา ผู้ซื้ออาจบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ขายยังอาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้หรือไม่ ส่วนข้อ 9 ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายยังอาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ จึงยอมให้ผู้ขายส่งของเมื่อพ้นกำหนดเวลาส่งมอบตามสัญญาได้ แต่ผู้ขายจะต้องถูกปรับเป็นรายวัน นับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันส่งมอบเรียบร้อยเมื่อผู้ซื้อยอมผ่อนปรนให้เช่นนี้แล้ว ถ้าผู้ขายยังทำให้ผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อก็ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาดังนี้ เมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาโดยส่งของไม่ถูกต้อง ผู้ซื้อก็แจ้งให้ผู้ขายนำของไปเปลี่ยนถึง 3 ครั้ง แสดงว่าผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 8 แต่ยอมให้ผู้ขายส่งมอบของได้แม้พ้นกำหนดเวลาแล้ว ซึ่งผู้ขายก็ไม่อาจจัดหาของมาส่งมอบได้ ผู้ซื้อจึงบอกเลิกสัญญา รูปคดีต้องปรับด้วยข้อ 9 ผู้ซื้อมีสิทธิริบหลักประกันและเรียกร้องเอาเงินค่าปรับเป็นรายวันจากผู้ขายได้
ส่วนจำนวนเบี้ยปรับนั้น เมื่อผู้ขายได้รับแจ้งว่าส่งของไม่ถูกต้องตามสัญญาก็มีหนังสือถึงผู้ซื้อขอยกเลิกสัญญาและยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาทุกประการ ผู้ซื้อไม่เลิกสัญญาโดยแจ้งว่าของมีขายในท้องตลาด ให้ปฏิบัติตามสัญญา ผู้ขายขอเลิกสัญญาทุกครั้งที่ผู้ซื้อเตือนดังนี้ผู้ซื้อหาควรฝืนใจผู้ขายให้ปฏิบัติตามสัญญาต่อไปอีกไม่น่าจะอนุมัติเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ จึงสมควรให้ผู้ซื้อได้รับเบี้ยปรับตั้งแต่วันที่ผู้ขายผิดสัญญาจนถึงวันที่ผู้ซื้อได้รับหนังสือขอยกเลิกสัญญาจากผู้ขาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 144, ม. 368, ม. 371, ม. 379, ม. 381, ม. 383, ม. 387
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที