Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 370 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 370 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 370” คืออะไร? 


“มาตรา 370” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 370 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้
              ถ้าไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านให้ใช้บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้บังคับแต่เวลาที่ทรัพย์นั้นกลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๙๕ วรรค ๒ นั้นไป “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 370” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 370 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2556
สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาธรรมดา ต้องเป็นสัญญาที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาระผูกพันเพิ่มขึ้นต่างหากจากการปฏิบัติตามสัญญาโดยปกติทั่วไป การที่จำเลยอนุมัติสินเชื่อให้โจทก์เพื่อจัดทำโครงการศูนย์การค้าในวงเงิน 27,000,000 บาท แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ขอสินเชื่อได้เป็นคราว ๆ ไป โดยให้โจทก์ทำสัญญากู้ไว้แก่จำเลย ดังนั้น จำนวนวงเงินที่โจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลย เป็นแต่เพียงจำนวนเงินขั้นสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากจำเลยเท่านั้น ไม่ใช่จำนวนเงินที่กำหนดไว้แน่นอนเพื่อผูกพันจำเลยตามที่ได้อนุมัติไว้แต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาสนับสนุนโครงการศูนย์การค้าของโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ธรรมดา
หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับหนี้ตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ต่างประเภทกัน มีเงื่อนไขและวิธีการในการคิดดอกเบี้ยแตกต่างกันตามที่คู่กรณีตกลงกัน เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงกันให้จำเลยหักเงินในบัญชีกระแสรายวันเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จึงเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันใช้บังคับกันได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีกระแสรายวันที่จะให้จำเลยหักชำระหนี้เงินกู้ จำเลยจึงตกลงยินยอมให้โจทก์เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีกระแสรายวันเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ การคิดดอกเบี้ยของจำเลยในกรณีนี้จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลง หาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยแต่อย่างใดไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 369, ม. 370

2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2546
ปัญหาว่าการที่จำเลยส่งมอบข้าวสารไม่ได้เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ จำเลยเป็นผู้กล่าวอ้างภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้จึงตกแก่จำเลย
การที่โจทก์ส่งมอบข้าวเปลือกของโจทก์ให้จำเลยสีเป็นข้าวสาร แล้วส่งคืนข้าวสารแก่โจทก์ โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นปลายข้าวและรำข้าวถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่งซึ่งจำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องนำข้าวเปลือกจำนวนที่ได้รับมอบจากโจทก์อันกำหนดไว้แน่นอนมาดำเนินการสีเป็นข้าวสารแล้วส่งมอบให้แก่โจทก์
ขณะไฟไหม้โรงสีมีแต่ข้าวสารที่จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว การที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบข้าวสารให้แก่โจทก์ได้เนื่องจากมาจากไฟไหม้โรงสีของจำเลยทำให้ข้าวสารเสียหายทั้งเหตุที่ไฟไหม้ไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของผู้ใด จึงถือไม่ได้ว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้เนื่องมาจากพฤติการณ์ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ ดังนั้นการชำระหนี้ด้วยการส่งมอบข้าวสารจึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด ตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ.
ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า เมื่อจำเลยสีข้าวเปลือกแล้วต้องส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์เมื่อใด ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยส่งมอบข้าวสารที่สีเสร็จแล้วแก่โจทก์ด้วย ทั้งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่าในการส่งข้าวสารคืนโจทก์นั้นต้องรอคำสั่งจากโจทก์ว่าจะให้ส่งไปจำนวนเท่าใด เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เรียกให้จำเลยส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดในการส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์ อันจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 217
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 217, ม. 219, ม. 369, ม. 370
ป.วิ.พ. ม. 84


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3409/2545
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเช่าช่วงที่ดินพิพาทจากโจทก์ครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว จำเลยผิดสัญญาไม่ก่อสร้างอาคารตามสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงแก่จำเลยและฟ้องขับไล่กับเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การและต่อสู้ว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาและโจทก์ตกลงจะให้จำเลยเช่าช่วงมีกำหนดเวลา 30 ปี บัดนี้ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามสัญญา จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยไม่ได้สนองคำมั่นของโจทก์ก่อนสิ้นกำหนดเวลาเช่า คำมั่นจึงสิ้นผลโดยมิได้เป็นประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้น ถือว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามป.วิ.พ. มาตรา 247 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าโจทก์จำเลยไม่ได้ทำสัญญาเช่าช่วงกันอีก การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินที่เช่าและชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าตลอดมา ถือว่าโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาเช่าช่วงใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาตามป.พ.พ. มาตรา 570 เมื่อโจทก์บอกเลิกการเช่าโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วสัญญาเช่าช่วงย่อมระงับลงจำเลยไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินที่เช่าอีกต่อไป การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินที่เช่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
โจทก์อ้างว่าการที่จำเลยยังคงประกอบกิจการอยู่ในที่ดินที่เช่า ทำให้โจทก์ไม่สามารถส่งมอบที่ดินคืนแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนนั้น เห็นว่า ค่าเสียหายดังกล่าวมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยคงอยู่ในที่ดินที่เช่าแต่เป็นค่าเสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษในกรณีไม่ชำระหนี้ ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้คาดเห็น หรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์ล่วงหน้าก่อนแล้ว ตามป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสองบัญญัติไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนี้ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 222, ม. 370, ม. 387, ม. 420
ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 249
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที