Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 368 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 368 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 368” คืออะไร? 


“มาตรา 368” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 368 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย “

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "สัญญา" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 368” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 368 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2565
ผลิตภัณฑ์สินค้ายี่ห้อ ค. กับสินค้ายี่ห้อ ช. เป็นสินค้าประเภทนาฬิกาและเครื่องประดับเช่นเดียวกัน ในการพิจารณาว่าคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หมายถึงบริษัทใดเป็นเรื่องที่ศาลต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ซึ่งโดยปกติของการดำเนินธุรกิจย่อมนับว่าบริษัทที่ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทเดียวกันสามารถใช้ทดแทนกันได้เป็นคู่แข่งทางการค้าไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งวัตถุประสงค์ของสัญญาว่าจ้างซึ่งโจทก์ตกลงจ่ายค่าจ้างแก่จำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงินสูง ก็เพื่อให้จำเลยที่ 2 มีส่วนในการส่งเสริมการขายและยกภาพลักษณ์ยี่ห้อ ช. ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นเป็นยี่ห้อชั้นนำในท้องตลาด ดังนั้น การที่จะนับว่ายี่ห้อ ค. ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทเดียวกับสินค้ายี่ห้อ ช. เป็นคู่แข่งทางการค้ากันจึงเป็นเจตนาที่คาดหมายได้ในทางสุจริต และเกณฑ์การพิจารณาในเรื่องนี้ต้องถือเอาความเข้าใจของวิญญูชนดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้นเป็นเกณฑ์กำหนดความประสงค์ในทางสุจริต ไม่อาจรับฟังเฉพาะความรู้สึกหรือความเข้าใจของจำเลยที่ 2 เพียงฝ่ายเดียวหรือยึดข้อมูลการจัดอันดับสินค้าดังกล่าวมาเป็นข้อพิจารณา จึงฟังได้ว่า สินค้ายี่ห้อ ค. เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่เป็นคู่แข่งของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ลงภาพที่ตนสวมใส่เครื่องประดับยี่ห้อ ค. ในอินสตาแกรมส่วนตัวจึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาข้อ 6.6 ต่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาต่อโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ เมื่อจำเลยทั้งสองประพฤติผิดสัญญา การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยข้อสัญญาในส่วนของค่าเสียหาย เป็นการกำหนดความรับผิดในการที่ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลอาจพิจารณาปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383เมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระค่าจ้างตามข้อตกลงในสัญญาได้อีก แต่อย่างไรก็ดีเมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นค่าการงานอันได้กระทำให้ ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม จำเลยทั้งสองคงมีสิทธิได้รับการใช้เงินตามควรค่าแห่งงานที่จำเลยทั้งสองได้กระทำไปแล้วเท่านั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 368, ม. 383, ม. 391


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3965/2564
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 14 เป็นต้นมา 3 งวด ติดกัน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 6 งวด ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่รับหนังสือ หากพันกำหนดแล้วไม่ชำระให้ถือเอาหนังสือฉบับนี้เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันที ซึ่งแม้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาปรากฏเหตุขัดข้องที่ส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจำเลยที่ 1 ไม่มารับภายในกำหนด แต่กรณีดังกล่าวสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 17 วรรคสาม ให้ถือว่าได้มีการส่งหนังสือบอกกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว โดยเนื้อความในหนังสือบอกกล่าวเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 (ก) ที่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ซึ่งกำหนดให้สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อสัญญานี้ด้วย ด้วยข้อสัญญาดังกล่าวมีผลให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อก่อนครบกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวได้ แต่จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามที่บอกกล่าวภายใน 30 วัน เพื่อมิให้โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญา แต่เมื่อปรากฏว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ โดยไม่รอให้ล่วงพ้นกำหนดเวลา 30 วัน โดยไม่มีข้อโต้แย้ง พฤติการณ์เท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า อย่างไรเสียก็จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเป็นแน่ และไม่ประสงค์ที่จะชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเพื่อให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันต่อไป ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อกระทำเช่นนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะเหตุที่ใจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อทราบโดยชอบแล้ว โดยโจทก์หาจำต้องโต้แย้งคัดค้านการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแต่อย่างใดไม่ ทั้งการส่งมอบรถยนต์คืนเช่นนี้มิใช่เป็นกรณีจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 12 ที่กำหนดให้สิทธิจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใด ๆ เสียก็ได้ด้วยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีให้แก่โจทก์เนื่องจากสัญญาข้อ 12 ดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาอยู่ในเวลานั้นทันที และไม่ได้เป็นการสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อกันโดยปริยายดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 368, ม. 391


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3281/2562
สัญญาตัวแทนตามคำฟ้องเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยกับจำเลยซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการระหว่างประเทศไปฟ้องยังศาลแห่งเมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งถือเป็นภูมิลำเนาของจำเลยจึงสามารถทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศ ไม่ตกเป็นโมฆะ
สำหรับการตีความสัญญานั้นต้องตีความไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักปฏิบัติและกฎหมายไทยด้วย การที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งนำกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration) มาเป็นหลักในการพัฒนานั้น มีบทบัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ และผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็อาจพิสูจน์เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้เช่นกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้คู่พิพาทหรือคู่สัญญาต้องนำข้อพิพาทไปฟ้องร้องต่อศาลจนมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเสียก่อน แล้วจึงอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นต่ออนุญาโตตุลาการ แม้การระงับข้อพิพาทของคู่ความมีด้วยกันหลายวิธี การนำคดีขึ้นสู่ศาลย่อมเป็นทางเลือกสุดท้าย ดังคำกล่าวว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ดังนั้น การแปลและตีความสัญญาตัวแทนซึ่งมีข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่จำเลยนำสืบมาจึงรับฟังได้ว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหาทางระงับข้อพิพาทร่วมกันก่อนเป็นอันดับแรก หากตกลงเจรจากันไม่สำเร็จ คู่สัญญาสามารถเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในย่อหน้าที่สองได้ ส่วนศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาไม่ว่าจะเป็นการร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดหรือคัดค้านเพื่อไม่ให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในย่อหน้าแรก สัญญาข้อดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ โดยไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้
เมื่อสัญญามีข้อตกลงให้ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการอันถือว่าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 แล้ว แม้ต่อมาสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง ก็มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 10, ม. 368
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 11, ม. 14
ม. 8
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที