Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 366 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 366 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 366” คืออะไร? 


“มาตรา 366” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 366 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ข้อความใด ๆ แห่งสัญญาอันคู่สัญญาแม้เพียงฝ่ายเดียวได้แสดงไว้ว่าเป็นสาระสำคัญอันจะต้องตกลงกันหมดทุกข้อนั้น หากคู่สัญญายังไม่ตกลงกันได้หมดทุกข้ออยู่ตราบใด เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกัน การที่ได้ทำความเข้าใจกันไว้เฉพาะบางสิ่งบางอย่าง ถึงแม้ว่าจะได้จดลงไว้ก็หาเป็นการผูกพันไม่
              ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ “

 

ค้นหาได้ทุกเรื่อง : "บทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมาย" >> คลิก !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 366” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 366 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7118/2561
โจทก์ร่างสัญญาว่าจ้างให้จำเลยลงลายมือชื่อและจำเลยขอแก้ไขรายละเอียดก่อน แต่จำเลยก็ให้โจทก์เข้าทำงานตามที่ตกลงกันแล้วโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการพูดถึงเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาที่ยังตกลงในสัญญาที่ยังตกลงกันไม่ได้อีก เหตุที่มีการโต้เถียงเรื่องสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเกิดจากการที่โจทก์ทวงถามค่าจ้างจากจำเลย จำเลยจึงอ้างระเบียบของจำเลยที่ต้องทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาโจทก์และจำเลยก็ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาจ้างแต่โจทก์ก็ยอมรับปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับจ้าง ส่วนจำเลยได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างและมีการชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีเช่นนี้ เชื่อได้ว่าโจทก์ตกลงรับจะทำการงานให้แก่จำเลยและจำเลยตกลงให้ค่าจ้างเพื่อการนั้น ทำให้สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยได้เกิดขึ้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 โดยโจทก์และจำเลยมิได้มุ่งหมายให้สัญญาจ้างทำของพิพาทต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้คู่สัญญาลงชื่อในสัญญาอีก สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 366 วรรคสอง, ม. 587


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2561
สัญญาว่าจ้างบริการทำความสะอาดอาคารและสถานที่ กำหนดว่า การจะเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในสัญญา โดยเฉพาะอัตราค่าบริการ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกันเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและแนบท้ายสัญญาไว้ด้วย ต้องถือว่าอัตราค่าบริการเป็นสาระสำคัญของสัญญา เพราะโจทก์เข้ามาทำงานรับจ้างทำความสะอาดอาคารและสถานที่ให้จำเลย ก็หวังจะได้ค่าบริการจากจำเลยเป็นการตอบแทนนั่นเอง การที่โจทก์มีหนังสือขอปรับขึ้นค่าบริการ ไปถึง จ. ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง และ ภ. ฝ่ายแม่บ้าน ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลย บุคคลทั้งสองไม่มีอำนาจตกลงเปลี่ยนแปลงข้อสัญญากับโจทก์ได้ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการปรับขึ้นค่าบริการ การตกลงที่สำคัญเช่นนี้โจทก์ต้องมีหนังสือไปถึงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย เมื่อกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยไม่ได้ตกลงกับโจทก์ ไม่ได้มีการทำข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หนังสือปรับขึ้นค่าบริการของโจทก์จึงยังไม่ผูกพันให้จำเลยต้องรับผิดในอัตราค่าบริการใหม่ที่โจทก์กำหนดขึ้นเอง แม้หลังจากที่พนักงานของจำเลยได้รับหนังสือขอปรับขึ้นค่าบริการแล้วจะยังมีการจัดซื้อจัดจ้างโจทก์ก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าจำเลยได้ตกลงยินยอมให้โจทก์ปรับขึ้นค่าบริการแล้ว จึงไม่มีผลให้โจทก์สามารถคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ เพราะพนักงานดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ทั้งโจทก์ยอมรับว่า จำเลยยังไม่เคยจ่ายเงินค่าบริการในอัตราที่โจทก์กำหนดขึ้นใหม่ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด เท่ากับว่าจำเลยยังไม่ได้ตกลงด้วยกับโจทก์ในการปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการใหม่ โจทก์ย่อมไม่อาจคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ และเนื่องจากระหว่างพิจารณา จำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างหรือค่าบริการที่ค้างชำระให้จนโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างในอัตราเดิมจากจำเลยอีกต่อไปแล้ว และค่าจ้างหรือค่าบริการในอัตราใหม่ก็ไม่ผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าจ้างหรือค่าบริการค้างจ่ายจากจำเลยได้อีก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 70, ม. 366, ม. 367, ม. 1144


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9108/2558
เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขนสินค้าเองบางส่วนที่เหลือให้โจทก์และบริษัทอื่นรับจ้างขนสินค้าคิดค่าจ้างเป็นรายเที่ยว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับโจทก์มีสัญญาต่อกันในการรับจ้างขนสินค้าบางส่วนดังกล่าว ครั้นต่อมาโจทก์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนด้านการจัดส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่ง ธ. กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ยอมรับว่ายังไม่มีการทำสัญญาเนื่องจากสัญญาจะทำขึ้นในภายหลัง แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาว่าสัญญาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียด ดังนั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา ต้องถือว่ายังไม่มีสัญญาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง สัญญาว่าจ้างรถห้องเย็นขนส่งสินค้าที่ว่าจ้างโจทก์แต่ผู้เดียวตามฟ้องจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงจะฟ้องให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายหาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 366 วรรคสอง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที