Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 359 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 359 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 359” คืออะไร? 


“มาตรา 359” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 359 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าคำสนองมาถึงล่วงเวลา ท่านให้ถือว่าคำสนองนั้นกลายเป็นคำเสนอขึ้นใหม่
              คำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วยนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับ ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัว “

 

ค้นหาได้ทุกเรื่อง : "บทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมาย" >> คลิก !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 359” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 359 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13215/2556
เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างชำระและไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในกำหนดโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงเป็นอันเลิกกัน การที่กรรมการโจทก์มีหนังสือแจ้ง น. ภายหลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วมีใจความว่า ตามที่ น. แจ้งความประสงค์จะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 485/10 โฉนดที่ดินเลขที่ 424 ตำบลคลองถนน อำเภอสายไหม กรุงเทพมหานคร ในโครงการสะพานใหม่วิลล์นั้น โจทก์ตกลงจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ น. ในราคา 1,040,000 บาท หาก น. พร้อมที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 เท่านั้น หนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำสนองรับคำเสนอของ น. แต่เป็นคำสนองที่มีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัดหรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วย ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับคำเสนอบางส่วนของ น. ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 359 วรรคสอง น. ไม่สนองรับคำเสนอดังกล่าวโดยการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนด คำเสนอของโจทก์ย่อมสิ้นผลไป ไม่ก่อให้เกิดข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างโจทก์กับ น. กรณีมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยไม่ระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 359


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6225/2552
การพิจารณาว่าจำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อตกลงแต่งตั้งผู้ประกอบการระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นสำคัญซึ่งระบุไว้ในข้อ 10 ของสัญญาดังกล่าวว่า "ในระหว่างระยะเวลาการเช่าตามข้อ 6 หากผู้ประกอบการไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไป หรือสัญญานี้เลิก หรือสิ้นสุดลงก่อนระยะเวลาตามข้อ 1 เนื่องจากความผิดของผู้ประกอบการ บริษัทบางจากฯ มีสิทธิที่จะจัดผู้อื่นเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแทนโดยจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประกอบการ..." ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โจทก์ประสบภาวะขาดทุนโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยว่าไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไปขอให้จำเลยรีบดำเนินการจ่ายเงินชดเชยค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินและเงินชดเชยค่าก่อสร้างให้โจทก์ และเหตุที่โจทก์ประสบภาวะขาดทุนเป็นผลมาจากโจทก์ไม่สามารถซื้อน้ำมันจากจำเลยตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาจึงถูกจำเลยปรับ ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไปจึงเป็นผลมาจากความผิดของโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิตามสัญญาข้อ 10 ที่จะจัดผู้อื่นเข้ามาดำเนินการแทนโดยจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประกอบการ สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิของฝ่ายจำเลยที่จะกระทำหรือไม่กระทำก็ได้เพราะข้อสัญญาไม่ได้บังคับไว้ เมื่อจำเลยไม่ใช้สิทธิดังกล่าว จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ในส่วนที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่ายินดีที่จะใช้สิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันต่อไปและชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ หนังสือนั้นจึงมีลักษณะเป็นคำสนองรับการไม่ประสบจะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากของโจทก์ แต่คำสนองของจำเลยดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญว่าจำเลยจะชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ และจำเลยจะจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อใช้สิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากจากโจทก์และจะนัดหมายโจทก์มาลงนามรับข้อตกลงต่อไป จึงเป็นคำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติมมีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไข ถือได้ว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับและเป็นคำเสนอใหม่ของจำเลยเมื่อโจทก์ไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวและมีหนังสือโต้แย้งจำนวนค่าชดเชยและวิธีการคำนวณค่าชดเชย หนังสือดังกล่าวจึงเป็นการบอกปัดคำเสนอของจำเลย คำเสนอของจำเลยจึงสิ้นความผูกพัน
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 12 ไม่ให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ การที่จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 ก่อนวันที่ พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับ จึงนำ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 357, ม. 359 วรรคสอง
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 12


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5343/2542
จำเลยมีคำเสนอขายข้าวสาร จำนวน 20,000 เมตริกตัน ส่งมอบเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2537 ไปยังโจทก์ โจทก์ตกลงให้จำเลยเป็นผู้ส่งข้าว คำเสนอและคำสนองดังกล่าวจึงถูกต้องตรงกัน ย่อมก่อให้เกิดสัญญาแล้ว แต่เมื่อจำเลยมีหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระราคาและเสนอราคาใหม่ไปยังโจทก์ ถือว่าเป็นคำเสนอใหม่ โจทก์ตอบตกลงซื้อข้าวตามราคาที่เสนอมาใหม่และให้จำเลยไปทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ แสดงว่าคำเสนอคำสนองใหม่ถูกต้องตรงกันสัญญาเกิดขึ้นแล้ว มีผลเป็นการยกเลิกสัญญาเดิม และผูกพันกันตามสัญญาที่เกิดขึ้นใหม่ ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบข้าวลงเรือในเดือนตุลาคม 2537 โดยไม่มีข้อความให้จำเลยมาทำสัญญาเป็นหนังสือ แต่กลับเร่งรัดให้จำเลยส่งมอบข้าวให้ทันกำหนดเวลา แสดงว่าโจทก์ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้สัญญามีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำสัญญาเป็นหนังสือก่อน การที่จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วมีหนังสือขอเลื่อนไปส่งมอบข้าวสารในเดือนธันวาคม 2537โดยไม่ได้ทักท้วงหรือโต้แย้งว่าสัญญายังไม่ได้ลงนามเนื่องจากยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องค่าเสียหาย การค้ำประกันและการส่งมอบ ทั้งปรากฏว่ากรมการค้าต่างประเทศเคยซื้อข้าวจากจำเลยโดยส่งประกาศรับซื้อไป จำเลยตอบรับ หลังจากนั้นจำเลยส่งมอบข้าวโดยไม่จำต้องทำสัญญาเป็นหนังสืออีกพฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยเองมิได้มุ่งที่จะให้การซื้อขายข้าวดังกล่าวนั้นจะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือเช่นกัน ดังนั้นสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่

ส. เป็นกรรมการผู้จัดการบริหารงานของบริษัทจำเลยมีอำนาจในการติดต่อทำการค้าแทนจำเลย การที่ ส. ลงชื่อและประทับตราบริษัทจำเลย จึงเป็นการกระทำแทนบริษัทจำเลยมิใช่ทำเป็นส่วนตัว เมื่อ ส. เป็นผู้เสนอขายข้าวให้โจทก์ในนามของจำเลยและจำเลยเองก็นำสืบยอมรับความสมบูรณ์ของเอกสารอันเป็นคำเสนอขายข้าวโดยรับเอาประโยชน์ไว้เป็นของตน ทั้งต่อมาจำเลยยังให้ ส. เป็นตัวแทนในการทำหนังสือขอเลื่อนการส่งมอบข้าวสารด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยเชิด ส. เป็นตัวแทนของจำเลยหรือรู้แล้วยอมให้ ส. เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยในการซื้อขายข้าวรายพิพาทจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821 ทั้งการเป็นตัวแทนเชิดดังกล่าวหาใช่การตั้งตัวแทนตามปกติแต่อย่างใดไม่จึงไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้กระทำการแทน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 359, ม. 366, ม. 821
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที