Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 349 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 349 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 349” คืออะไร? 


“มาตรา 349” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 349 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่
              ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น
              ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 349” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 349 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2561
ข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 5 เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันเอง โจทก์ในฐานะผู้รับโอนหนี้จากธนาคาร ด. มิได้ตกลงยินยอมด้วย จึงไม่มีผลให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากการเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทที่ทำกับธนาคาร ด. ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาสินเชื่อกับโจทก์ ปรากฏว่าเนื้อหาของสัญญาดังกล่าวเป็นการที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มาร่วมใช้วงเงินสินเชื่อที่จำเลยที่ 1 เคยได้รับจากธนาคาร ด. พร้อมกันนั้นได้มีการขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อและเปลี่ยนแปลงประเภทวงเงินสินเชื่อ โดยไม่ได้ตกลงให้หนี้เดิมระงับและบังคับตามหนี้ใหม่ สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เดิมมิได้มีการเปลี่ยนแปลง กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 ไม่ทำให้หนี้ของจำเลยที่ 5 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไป จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
ตามสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทระบุว่า "สัญญาค้ำประกันฉบับนี้ให้ใช้บังคับโดยเอกเทศ ไม่ลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขภาระผูกพันของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเองที่มีต่อธนาคารอยู่ก่อนหรือหลังวันทำสัญญานี้ และให้มีผลผูกพันตลอดถึงกองมรดก ทายาทผู้รับมรดก ผู้จัดการทรัพย์สิน รวมทั้งผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกัน ก็ให้ใช้สัญญาฉบับนี้บังคับได้ด้วย" เมื่อโจทก์ได้รับโอนหนี้มาจากธนาคาร ด. โดยชอบ จำเลยที่ 6 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันจึงต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาเพิ่มวงเงินสินเชื่อเดิมกับโจทก์มิใช่การทำสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาเดิม จำเลยที่ 6 และที่ 7 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ทรัสต์รีซีทที่เกิดขึ้นภายหลังวันทำสัญญาสินเชื่อด้วย
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดอัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 38 และ 46 ประกอบมาตรา 4 ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินประกาศข้อมูลในเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราส่วนลด และค่าบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น รวมทั้งข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์นั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของธนาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด คดีนี้ ธนาคารโจทก์มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นช่วง ๆ ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดต่ำตามประกาศธนาคารโจทก์นับถัดจากวันฟ้องต่ำกว่าอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อัตราดังกล่าวก็จะเป็นอัตราที่สูงเกินกว่าสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามกฎหมาย จึงเห็นสมควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยแก่โจทก์ให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์พึงเรียกได้ และเนื่องจากจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เห็นสมควรแก้ไขการคิดอัตราดอกเบี้ยภายหลังวันฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วย แม้จำเลยดังกล่าวจะมิได้อุทธรณ์คำพิพากษา
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 349
พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ม. 4, ม. 38, ม. 46


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2560
จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ความว่า ตามที่จำเลยที่ 1 รับจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และได้ตกลงสั่งซื้อสินค้าและว่าจ้างโจทก์ติดตั้งม่านม้วนระบบมอเตอร์พร้อมผ้าตามใบสั่งซื้อเลขที่ PO.550523004 และ PO.550526001 ลงวันที่ 23 และ 26 พฤษภาคม 2555 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าและค่าติดตั้งงานดังกล่าวแก่โจทก์ได้ตามกำหนดเป็นเหตุให้งานสะดุดหยุดลง เพื่อให้งานสั่งสินค้าและติดตั้งสินค้าดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จำเลยที่ 3 ตกลงเข้าค้ำประกันการชำระหนี้และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามใบสั่งซื้อดังกล่าวในวงเงิน 3,474,995.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายโดยไม่จำกัดเวลาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยจนครบถ้วนเสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคารได้ขอสินเชื่อจากจำเลยที่ 2 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงและตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง โดยขอโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งหมดที่พึงจะได้รับตามสัญญาจ้างเหมาทุกจำนวนและทุกงวดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่างานจำนวน 205,529,194.72 บาท โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินทุกงวดทุกจำนวนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยตรงตามข้อสัญญา จะเห็นว่า มูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มีที่มาแห่งมูลหนี้ต่างกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องสำหรับเงินทุกงวดทุกจำนวนที่มีมูลค่างานของโครงการเป็นเงิน 205,529,194.72 บาท ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่อาจถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะเป็นหนี้คนละส่วน ต่างข้อตกลงและต่างสัญญากัน เมื่อหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้เดิมและเป็นหนี้ประธานไม่ระงับสิ้นไป โดยไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญา
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 303, ม. 349, ม. 350


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13199/2558
ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮ้าส์ให้แก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท จากจำเลยที่ 2 และได้แปลงหนี้ใหม่มาเป็นสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้สร้างทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ก่อสร้างทาวน์เฮาส์จึงต้องถือว่าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดขึ้น หนี้เดิมคือหนี้เงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากการที่ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท จึงไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 351
การที่ศาลอุทธณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเรื่องการแปลงหนี้ใหม่ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ก่อสร้างทาวน์เฮาส์แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินจำนวน 6,000,000 บาท แก่โจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับวินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาซื้อขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์ หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 ย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้นแต่ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 351 จึงไม่ชอบ และปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็สามารถวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และเมื่อหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ใหม่ คือสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์มิได้เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 351 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท แก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 349, ม. 351
ป.วิ.พ. ม. 246, ม. 247
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที