Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 341 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 341” คืออะไร? 


“มาตรา 341” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 341 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “  ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้
              บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ หากเป็นการขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้ แต่เจตนาเช่นนี้ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต“

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 341” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 341 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2565
ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยใช้สิทธิหักค่าจ้างตามสัญญาที่ต้องชำระแก่โจทก์ไว้เป็นเงิน 798,962 บาท โดยระบุว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเป็นเหตุให้เครื่องบินขับเฉี่ยวชนสะพานเทียบเครื่องบิน ซึ่งในประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีส่วนผิดในความเสียหายดังกล่าวอยู่ด้วย จึงกำหนดให้โจทก์รับผิดในความเสียหายแก่จำเลยเพียงกึ่งหนึ่งแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 399,481 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นหักกลบลบหนี้ระหว่างกันเพื่อความสะดวกในการบังคับคดี และให้จำเลยรับผิดคืนเงินที่หักไว้กึ่งหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่มีส่วนผิดในความเสียหาย หากแต่เป็นความประมาทของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว จึงพิพากษายกฟ้อง กับบังคับตามฟ้องแย้งโดยให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดอีก 399,481 บาท เท่ากับว่าให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยเป็นเงิน 798,962 บาท ตามฟ้องแย้ง เมื่อหักกลบกับเงินค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างในวันฟ้องซึ่งจำเลยได้หักไว้เป็นค่าเสียหายแล้ว จึงไม่มีหนี้ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระต่อกันอีก เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่มีดอกเบี้ยที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 341


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2562
จำเลยได้เงินจากการออกจากงาน จำเลยย่อมสามารถนำมาชำระแก่โจทก์ตามสัญญาหย่าได้ แต่จำเลยก็หากระทำไม่ กลับอ้างลอย ๆ ว่านำไปชำระหนี้นอกระบบหมด จำเลยจะอ้างเอาเงินที่ได้ไปชำระหนี้ที่จำเลยอ้างว่านอกระบบ ซึ่งหมายความว่าไม่มีมูลที่จะเรียกร้องตามกฎหมายมามีเหตุผลเหนือกว่าการชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาหย่าที่จำเลยมีตามสัญญาที่ตนกระทำอันเป็นหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรมอันดีในฐานะบิดาที่จะต้องดูแลบุตรผู้เยาว์หาได้ไม่ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีส่วนรับผิดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาหย่ามีข้อตกลงชัดเจนที่จำเลยจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเกี่ยวกับการศึกษาบุตร มีลักษณะเป็นการตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีต่อกันในการจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยมีข้ออ้างว่าโจทก์กับจำเลยมีหนี้ร่วมกันจริง ก็ควรมีการยกขึ้นพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยก่อนที่จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับภาระผูกพันที่จำเลยจะรับผิดต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสัญญาหย่าว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์โดยระบุว่า หนี้สินไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก จึงต้องถือว่า หนี้สินระหว่างจำเลยกับโจทก์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่กระทบต่อข้อตกลงที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาหย่า ทั้งสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือสละได้ คดีนี้โจทก์ทำข้อตกลงกับจำเลยเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นมารดากระทำการแทนบุตรผู้เยาว์ สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงยังเป็นของบุตรผู้เยาว์ จำเลยไม่อาจนำมาอ้างขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ ดังนั้นจำเลยจะมาหยิบยกภาระหนี้ดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอหักกลบลบหนี้ที่ตนมีต่อโจทก์หาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 341, ม. 1598/41


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628 - 2637/2561
บรรดาเงินค่าชดเชยและเงินประโยชน์ที่โจทก์จ่ายให้ภายหลังจากการเลิกจ้าง เป็นการจ่ายเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่โจทก์เลิกจ้างพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121 (1) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้รับพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน จึงต้องถือเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ไม่เคยมีการเลิกจ้างจำเลยทั้งหมด ดังนั้น จำเลยทั้งหมดจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว โจทก์ชอบจะเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งหมดต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันและโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นหนี้อย่างเดียวกันและโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งหมดคืนเงินดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย โจทก์จึงชอบจะใช้สิทธินำเงินที่จำเลยทั้งหมดต้องคืนโจทก์มาหักกลบลบหนี้กับเงินค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องจ่ายให้จำเลยทั้งหมดตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 341
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 121 (1)
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที