Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 340 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 340” คืออะไร? 


“มาตรา 340” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 340 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 340” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 340 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560
จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 340
พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ม. 7, ม. 8, ม. 9


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14144/2553
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมเงินและหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเดียวกันไว้ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม พร้อมกับจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยที่ 5 ขายที่ดินที่จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์มีหนังสือที่แสดงเจตนาว่ายอมปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 5 จนหมดสิ้นแล้ว เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 และมาตรา 296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อจำเลยที่ 5 ย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 5 ระงับไปตามมาตรา 340 และย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามมาตรา 293 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และแม้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 เนื่องจากต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและหนี้ตามภาระการค้ำประกันดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ในระหว่างจำเลยที่ 4 และที่ 5 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 4 ได้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 293, ม. 296, ม. 340, ม. 682 วรรคสอง
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 245 (1), ม. 246, ม. 247
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6393/2551
ตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุจำนวนเงินจำกัดความรับผิด กรมธรรม์ประกันภัยนี้ให้ความคุ้มครองเฉพาะสัญญาข้อที่มีจำนวนเงินจำกัดความรับผิดระบุไว้เท่านั้น ในข้อสัญญาดังกล่าวไม่ระบุถึงต้องรับผิดในส่วนค่าขาดไร้อุปการะด้วยการที่จำเลยจ่ายเงินไปเห็นได้ชัดว่าเป็นค่าปลงศพเท่านั้น การจ่ายเงินค่าซ่อมรถก็เป็นค่าเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งค่าเสียหายทั้งสองรายการนี้ต้องจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับจำเลยร่วมเท่านั้น ในการทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม ประกอบมาตรา 1563 ไม่ว่าในขณะเกิดเหตุผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และในอนาคตจะอุปการะกันหรือไม่ การที่โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องจำเลยร่วมที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขอให้ศาลเรียกเข้ามานั้น ไม่มีผลเกี่ยวกับจำเลยทั้งห้าเพราะคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ไม่ใช่ค่าปลงศพและค่าเสียหายต่อทรัพย์สินของกรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่เป็นการปลดหนี้ให้แก่จำเลยร่วมอันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หลุดพ้นจากความรับผิดในส่วนนี้ ทั้งการที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมว่าไม่ติดใจเรียกร้องอะไรอีกนั้น เป็นกรณีเฉพาะการประนีประนอมยอมความกันในเรื่องค่าซ่อมรถเท่านั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 340, ม. 443 วรรคสาม, ม. 1563
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที