Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-29

มาตรา 34 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 34 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 34” คืออะไร? 


“มาตรา 34” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 34 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้
              (๑) นำทรัพย์สินไปลงทุน
              (๒) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น
              (๓) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
              (๔) รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
              (๕) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี
              (๖) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
              (๗) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
              (๘) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
              (๙) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
              (๑๐) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา ๓๕ หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
              (๑๑) ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
              ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลัง ศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้
              ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
              คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
              การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "คนเสมือนไร้ความสามารถ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "คนเสมือนไร้ความสามารถ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 34” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 34 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13652/2558
ผู้พิทักษ์มิใช่เป็นผู้แทนของคนเสมือนไร้ความสามารถ ดังเช่นในกรณีของคนไร้ความสามารถที่ต้องให้ผู้อนุบาลกระทำการแทน ซึ่งการเสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ถือเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่คนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 (10) ดังนี้ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยมี อ. เป็นผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่า อ. เป็นผู้ลงชื่อแต่งทนายความ และทนายความลงชื่อในคำฟ้องในฐานะโจทก์และผู้เรียงพิมพ์ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้มาเบิกความต่อศาล โดย อ. เบิกความแทน จึงเท่ากับเป็นการที่ผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์และบกพร่องในเรื่องความสามารถของผู้ที่จะมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้แก้ไขเพื่อให้คำฟ้องสมบูรณ์เสียแต่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจนคดีล่วงเลยมาสู่ศาลฎีกาเช่นนี้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 34


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12634/2558
ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้
...ฯลฯ...
(4) รับประกันโดยประการใดๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
...ฯลฯ...
จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น มีความสามารถที่จะทำนิติกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในมาตรา 34 วรรคหนึ่ง ได้เอง โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์แต่ประการใด โดยจัดว่าเป็นผู้หย่อนความสามารถเฉพาะการทำนิติกรรมต่าง ๆ ซึ่งระบุไว้เท่านั้นที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน จึงจะมีความสามารถทำได้ ส่วนมาตรา 34 วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม" ตามบทบัญญัติในวรรคสามนี้ หมายถึงกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน (1) ถึง (11) หรือวรรคสองด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้พิทักษ์ ได้ทำนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทและการโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นนิติกรรมดังได้ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 34 (4) โดยได้รับความยินยอมของจำเลยที่ 1 ผู้พิทักษ์แล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคหนึ่งแล้ว นิติกรรมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 34


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66/2553
คำร้องขอที่ให้ศาลมีคำสั่งว่า จ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของผู้ร้องจะมีคำขอมาด้วยกันเป็นการล่วงหน้าเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ได้ด้วยตนเองไม่ได้ เนื่องจากคำร้องขอของผู้ร้องเป็นแต่เพียงการขอล่วงหน้าโดยยังไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ตามที่ขอเกิดขึ้นจริง จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะให้ศาลนำมาพิจารณาวินิจฉัยเพื่อใช้ดุลพินิจได้ ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอส่วนนี้ของผู้ร้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 34
ป.วิ.พ. ม. 55
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที