Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 331 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 331 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 331” คืออะไร? 


“มาตรา 331” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 331 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่เป็นความผิดของตน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 331” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 331 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8736/2563
จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 มาจากการขายทอดตลาดโดยติดจำนองไม่ได้เป็นคู่สัญญาที่จะต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง มีหน้าที่ปลดเปลื้องภาระจำนองด้วยการไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ได้เสนอคำขอไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองไปยังโจทก์ โจทก์ได้รับคำเสนอดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 หากโจทก์ไม่ยอมรับคำเสนอก็ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 เดือนนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองนั้นตามมาตรา 739 แต่โจทก์เพียงแต่มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาหนังสือขอไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ขอปฏิเสธข้อเสนอชำระค่าไถ่ถอนจำนองของจำเลยที่ 2 หากจะไถ่ถอนจำนองจะต้องชำระตามภาระหนี้จำนอง โดยไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 เดือนนับแต่วันมีคำเสนอ โจทก์จึงต้องถูกผูกพันตามคำเสนอขอไถ่ถอนจำนองของจำเลยที่ 2 โดยถือว่าเป็นการสนองรับโดยปริยายตามมาตรา 739 และมาตรา 741 จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิไถ่ถอนจำนองในวงเงินตามที่เสนอ แต่ภาระจำนองจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เงินแก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอขอไถ่ถอนดังกล่าว แม้โจทก์จะไม่ยอมรับราคาตามที่จำเลยที่ 2 เสนอ แต่เมื่อถือว่าโจทก์สนองรับราคาตามที่จำเลยที่ 2 เสนอแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำเสนอดังกล่าวด้วย โดยต้องไถ่ถอนจำนองตามราคาที่เสนอซึ่งถือเป็นหนี้เงินที่จะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำเงินตามราคาที่เสนอไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามคำเสนอตามมาตรา 330 และ 331 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดตามคำเสนอราคาไถ่ถอนจำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์ขอไถ่ถอนทรัพย์จำนองภายใน 30 วัน โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2557 กรณีจึงต้องถือว่าการสนองรับคำเสนอราคาไถ่ถอนของจำเลยที่ 2 มีผลวันที่ 25 ธันวาคม 2557 กำหนดเวลา 30 วัน ที่จำเลยที่ 2 ต้องวางเงินจึงตรงกับวันที่ 24 มกราคม 2558 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 25 มกราคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224 วรรคหนึ่ง, ม. 330, ม. 331, ม. 738, ม. 739, ม. 741


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7804/2559
ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าดอกเบี้ยจำนวนที่โจทก์นำไปวางพร้อมเงินต้นที่สำนักงานวางทรัพย์ เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองที่ค้างชำระเป็นระยะเวลา 5 ปี เท่ากับสิทธิเรียกร้องของผู้รับจำนองที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับโอนสิทธิจำนองซึ่งมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้รับจำนอง จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยในส่วนเกินกำหนดเวลาดังกล่าวนี้หาได้ไม่ และโจทก์ในฐานะลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 331
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/27, ม. 193/33, ม. 331, ม. 745


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16097/2557
ได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการขายฝาก โจทก์ทั้งสองพยายามติดต่อจำเลยแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปฏิเสธบอกปัดไม่ยอมรับการไถ่ถอนหรือไม่ยอมรับชำระหนี้อยู่ในตัว กรณีจึงมีเหตุให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 331 เมื่อโจทก์ทั้งสองวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา โดยมีหลักฐานแคชเชียร์เช็คลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 จ่ายสำนักงานบังคับคดีจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งเป็นวันที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอน นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 โจทก์ที่ 1 นำเงินมาไถ่ถอนที่ดินตามสัญญาขายฝากซึ่งครบกำหนดแล้ว แต่จำเลยไม่มาตามนัดและไม่สามารถติดต่อได้ ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน การแจ้งความเป็นหลักฐานระบุเวลา 17.15 นาฬิกา อันเป็นเวลาที่ทางราชการปิดทำการแล้ว จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสำนักงานบังคับคดีและวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ทั้งสองนำแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวที่สั่งจ่ายแก่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา ไปวางทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีโดยมีบันทึกรายงานเจ้าพนักงานเป็นหลักฐาน ยิ่งเป็นข้อชี้ชัดว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินสินไถ่ พร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาขายฝากในวันครบกำหนดจริง พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ถอนได้ภายในกำหนดแล้ว ส่วนการจะนำแคชเชียร์เช็คไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์หรือวางแล้วถอนคืนไป ก็มิใช่กรณีที่นำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้มีสิทธิไถ่คืน การวางทรัพย์เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้ขายฝากมีเงินสินไถ่มาทำการไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากกับผู้รับซื้อฝาก
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้" ในกรณีวางทรัพย์บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้โจทก์ทั้งสองผู้ไถ่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้ให้แก่จำเลยผู้ซื้อฝากพร้อมกับสินไถ่ที่โจทก์ทั้งสองวางแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 10,000,000 บาท อันเป็นสินไถ่เท่าที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก จึงเป็นการใช้สิทธิไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากโดยชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 331, ม. 492 วรรคหนึ่ง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที