Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 330 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 330 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 330” คืออะไร? 


“มาตรา 330” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 330 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ก็เป็นอันปลดเปลื้องไป นับแต่เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 330” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 330 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8736/2563
จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 มาจากการขายทอดตลาดโดยติดจำนองไม่ได้เป็นคู่สัญญาที่จะต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง มีหน้าที่ปลดเปลื้องภาระจำนองด้วยการไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ได้เสนอคำขอไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองไปยังโจทก์ โจทก์ได้รับคำเสนอดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 หากโจทก์ไม่ยอมรับคำเสนอก็ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 เดือนนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองนั้นตามมาตรา 739 แต่โจทก์เพียงแต่มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาหนังสือขอไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ขอปฏิเสธข้อเสนอชำระค่าไถ่ถอนจำนองของจำเลยที่ 2 หากจะไถ่ถอนจำนองจะต้องชำระตามภาระหนี้จำนอง โดยไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 เดือนนับแต่วันมีคำเสนอ โจทก์จึงต้องถูกผูกพันตามคำเสนอขอไถ่ถอนจำนองของจำเลยที่ 2 โดยถือว่าเป็นการสนองรับโดยปริยายตามมาตรา 739 และมาตรา 741 จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิไถ่ถอนจำนองในวงเงินตามที่เสนอ แต่ภาระจำนองจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เงินแก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอขอไถ่ถอนดังกล่าว แม้โจทก์จะไม่ยอมรับราคาตามที่จำเลยที่ 2 เสนอ แต่เมื่อถือว่าโจทก์สนองรับราคาตามที่จำเลยที่ 2 เสนอแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำเสนอดังกล่าวด้วย โดยต้องไถ่ถอนจำนองตามราคาที่เสนอซึ่งถือเป็นหนี้เงินที่จะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำเงินตามราคาที่เสนอไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามคำเสนอตามมาตรา 330 และ 331 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดตามคำเสนอราคาไถ่ถอนจำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์ขอไถ่ถอนทรัพย์จำนองภายใน 30 วัน โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2557 กรณีจึงต้องถือว่าการสนองรับคำเสนอราคาไถ่ถอนของจำเลยที่ 2 มีผลวันที่ 25 ธันวาคม 2557 กำหนดเวลา 30 วัน ที่จำเลยที่ 2 ต้องวางเงินจึงตรงกับวันที่ 24 มกราคม 2558 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 25 มกราคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224 วรรคหนึ่ง, ม. 330, ม. 331, ม. 738, ม. 739, ม. 741


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3088/2552
ปัญหาเรื่องค่าสมาชิกสนามกอล์ฟแยกต่างหากจากสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเป็นสำคัญ เมื่อตามคำฟ้อง คำให้การและข้อที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยต้องคืนค่าที่ศาลพิพากษาและค่าสนามกอล์ฟให้โจทก์ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเกี่ยวกับสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟและไม่ต้องคืนเงินค่าสมาชิกสนามกอล์ฟให้แก่โจทก์ได้
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งกรณีนี้หมายรวมถึงการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟที่ต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่ได้ชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์เป็นดอกเบี้ยตามมาตรา 391 วรรคสอง อันเนื่องจากโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา จึงไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1)
เมื่อสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเกิดแต่โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา จึงเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่โจทก์เรียกคืนอันเป็นส่วนที่เป็นหนี้ประธานสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจึงมีอายุความและเริ่มนับอายุความเช่นเดียวกันกับหนี้ประธาน สิทธิเรียกร้องเงินค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่โจทก์เรียกคืนจากจำเลยยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนที่เป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟอันเป็นส่วนที่เป็นหนี้ประธานย่อมไม่ขาดอายุความไปด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/30, ม. 193/33 (1), ม. 330, ม. 391 วรรคหนึ่ง, ม. 391 วรรคสอง
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคหนึ่ง, ม. 249 วรรคหนึ่ง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1946/2542
จำเลยได้นำเฉพาะต้นเงินจำนวน 60,000 บาทที่จะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2529 แต่โจทก์ได้ปฏิเสธการรับเงินดังกล่าวตลอดมาเพราะเห็นว่าเป็นการชำระหนี้ไม่ถูกต้อง แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของเงิน 60,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2529 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยวางทรัพย์จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวมิได้กล่าวอ้างถึงการวางเงินของจำเลยต่อสำนักงานวางทรัพย์เลย อีกทั้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวได้ถึงที่สุดไปแล้วโดยจำเลยมิได้ฎีกาย่อมมีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยตาม คำพิพากษาดังกล่าวได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 330, ม. 331
ป.วิ.พ. ม. 145, ม. 271, ม. 276
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที