“มาตรา 308 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 308” คืออะไร?
“มาตรา 308” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 308 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมดังกล่าวมาในมาตรา ๓๐๖ โดยมิได้อิดเอื้อน ท่านว่าจะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนนั้นหาได้ไม่ แต่ถ้าเพื่อจะระงับหนี้นั้นลูกหนี้ได้ใช้เงินให้แก่ผู้โอนไปไซร้ ลูกหนี้จะเรียกคืนเงินนั้นก็ได้ หรือถ้าเพื่อการเช่นกล่าวมานั้น ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อผู้โอน จะถือเสมือนหนึ่งว่าหนี้นั้นมิได้ก่อขึ้นเลยก็ได้
ถ้าลูกหนี้เป็นแต่ได้รับคำบอกกล่าวการโอน ท่านว่าลูกหนี้มีข้อต่อสู้ผู้โอนก่อนเวลาที่ได้รับคำบอกกล่าวนั้นฉันใด ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่ผู้รับโอนได้ฉันนั้น ถ้าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องจากผู้โอน แต่สิทธินั้นยังไม่ถึงกำหนดในเวลาบอกกล่าวไซร้ ท่านว่าจะเอาสิทธิเรียกร้องนั้นมาหักกลบลบกันก็ได้ หากว่าสิทธินั้นจะได้ถึงกำหนดไม่ช้ากว่าเวลาถึงกำหนดแห่งสิทธิเรียกร้องอันได้โอนไปนั้น “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 308” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 308 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12977/2558
การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ศต 3648 กทม. จากจำเลยที่ 2 แล้วนำไปขายต่อให้โจทก์ มีข้อตกลงให้โจทก์ชำระราคาแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้ความยินยอมหรือได้รับคำบอกกล่าวเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือเป็นค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว การทำสัญญาขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ แต่เมื่อคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 ในข้อ 9 ระบุว่า แม้ว่าผู้กู้ (จำเลยที่ 1) ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์เสร็จสิ้นแล้ว แต่หากยังคงค้างชำระหนี้อยู่กับธนาคาร (จำเลยที่ 2) ผู้กู้ตกลงยินยอมให้ธนาคารยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยินยอมให้ธนาคารยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับรถยนต์เพื่อประกันเงินกู้ยืมจากธนาคารจนกว่าผู้กู้จะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยและหนี้สินที่ค้างชำระคืนแก่ธนาคารครบทั้งจำนวน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 2 หรือได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ผู้โอนขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 วรรคสอง โดยรวมถึงข้อต่อสู้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วน ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะปฏิเสธไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้แก่จำเลยที่ 2 จนครบถ้วนได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ดังกล่าวยันโจทก์ และไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้ฎีกาเรื่องค่าเสียหายจะต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 247
ป.พ.พ. ม. 306, ม. 308
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7590/2555
ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เสมือนดังเป็นตัวแทนโจทก์ น่าเชื่อว่าได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาตลอดจนตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะเบิกความ นับว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี และไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ตั้งผู้อื่นซึ่งมิใช่พนักงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ คำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้
โจทก์ฟ้องว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ไม่มีความประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระ จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม ตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารท้ายฟ้อง เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องและเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามเอกสาร แม้ชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำเอกสารท้ายฟ้องมาสืบเป็นพยานโจทก์ก็ตาม แต่ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์เบิกความยืนยันว่า หลังจากโจทก์รับซื้อทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. แล้ว โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามการโอนไปยังฝ่ายจำเลย และยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์และหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและชำระดอกเบี้ยตลอดมา เมื่อทางการให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ระงับการดำเนินกิจการ จำเลยที่ 1 กลับอ้างว่าไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินและจำเลยที่ 2 ไม่เคยค้ำประกัน เมื่อพิจารณาคำฟ้อง คำเบิกความ พยานหลักฐานของโจทก์และพฤติกรรมของฝ่ายจำเลย ประกอบเหตุผลว่าตามวิสัยของเจ้าหนี้ย่อมจะต้องบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ที่มีหนี้จำนวนมากชำระหนี้แล้ว เชื่อว่าโจทก์บอกกล่าวทวงถามโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การซื้อขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกทางการสั่งระงับการดำเนินกิจการอย่างถาวร เป็นการซื้อขายกันตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวดที่ 4 เรื่องโอนสิทธิเรียกร้อง
ขณะที่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับสุดท้าย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามที่บริษัทประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังประกาศมอบอำนาจให้ไว้ตามความในมาตรา 30 (1) (2) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังมีอำนาจตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 306, ม. 308
ป.วิ.พ. ม. 93, ม. 95, ม. 95/1
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ม. 30, ม. 30 ทวิ
พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ม. 30 (2)
พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ม. 4
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2555
ข้อต่อสู้ที่ลูกหนี้มีต่อผู้โอนซึ่งยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 วรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงข้อต่อสู้เกี่ยวกับสภาพแห่งหนี้ว่าบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์บังคับไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ นำสืบ และอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินกู้ ไม่ได้เป็นหนี้ตามฟ้อง เป็นการยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับสภาพแห่งหนี้ว่าไม่สมบูรณ์บังคับไม่ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้นี้ขึ้นอ้างได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 308 วรรคหนึ่ง