Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 295 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 295 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 295” คืออะไร? 


“มาตรา 295” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 295 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๙๒ ถึง ๒๙๔ นั้น เมื่อเป็นเรื่องเท้าถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง
              ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน 

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "หนี้" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 295” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 295 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2561
การที่บริษัท ส. ลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และธนาคาร น. เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(3) อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัท ส. ลูกหนี้ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์
จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท ม. ผู้ค้ำประกันร่วมได้ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่ ป.พ.พ. มาตรา 692 หาได้บัญญัติด้วยว่า หากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่า อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความ
จึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/12, ม. 193/14 (3), ม. 193/15 วรรคหนึ่ง, ม. 295, ม. 692
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 91


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2558
คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4 ) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ก็ตาม แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 295
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/14 (2), ม. 295, ม. 692, ม. 1489, ม. 1490 (4)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12802/2557
บริษัท ม. กับโจทก์และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยในส่วนของโจทก์ต้องชำระเงินเพิ่มตามสัญญาข้อ 4.2 อันเนื่องมาจากโจทก์เคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มาก่อนแล้วปฏิบัติผิดเงื่อนไข โดยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และบรรษัทดังกล่าวได้ยกเลิกสัญญาแล้ว ซึ่งเป็นข้อความจริงที่เกี่ยวถึงตัวโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งโดยเฉพาะ ย่อมเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่โจทก์เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคหนึ่ง ในข้อนี้สัญญาดังกล่าวในข้อ 4.2 ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ค้ำประกันรายที่ 5 คือโจทก์จะต้องชำระหนี้เงินตามข้อ 4.2.1 จำนวน 570,000 บาท ภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ข้อ 4.2.2 จำนวน 570,000 บาท ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ 23 มิถุนายน 2553 และ ข้อ 4.2.3 จำนวน 553,000 บาท ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของโจทก์ มิฉะนั้นแล้วบรรษัทดังกล่าวคงไม่ตกลงไว้เช่นนั้น ดังนั้นโจทก์จะอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมรับผิดด้วยโดยถือเป็นการรับช่วงสิทธิจากบรรษัทดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสี่หาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 295 วรรคหนึ่ง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที