Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 293 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 293 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 293” คืออะไร? 


“มาตรา 293” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 293 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ได้ปลดให้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 293” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 293 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2561
ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับแห่งหนี้ ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 5 บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปต่อเมื่อได้มีการชำระหนี้ มีการปลดหนี้ มีการหักกลบลบหนี้ มีการแปลงหนี้ใหม่หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วนจาก บ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้ บ. เท่านั้น เมื่อการชำระหนี้นั้นยังไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ปรากฏเหตุอื่นที่อาจทำให้หนี้ดังกล่าวทั้งหมดระงับสิ้นไป แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระอีก การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจาก บ. เป็นเพียงโจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 685 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปกับ บ. ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับ บ. เมื่อได้ความว่า ทั้งจำเลยที่ 2 และ บ. ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่มิได้ค้ำประกันร่วมกัน แต่ต้องรับผิดร่วมกันดังกล่าวไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229, 293 และ 296 แม้โจทก์จะยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้ บ. คงเป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงเท่าส่วนของ บ. ชำระให้โจทก์และที่ปลดไป ซึ่งทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ปลดไปได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือไม่ เมื่อได้ความว่า บ. ชำระหนี้ให้โจทก์ไปเพียง 4,050,000 บาท ยังไม่ครบตามภาระหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างชำระในต้นเงิน ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 229, ม. 293, ม. 296, ม. 682, ม. 685


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12384/2558
การที่ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ชั้นต้นร่วมกับจำเลยในคดีนี้ ชำระหนี้บางส่วนให้แก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้มีหนังสือปลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษารายนั้นแล้วก็ตาม หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงเจตนาของเจ้าหนี้ว่าไม่ประสงค์ที่จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษารายนั้นชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่เจ้าหนี้จนสิ้นเชิง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 เท่านั้น ไม่มีผลทำให้จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือภายหลังหักชำระหนี้แต่อย่างใดเพราะหนี้ตามคำพิพากษายังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือแก่เจ้าหนี้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 229, ม. 291, ม. 293, ม. 296, ม. 682 วรรคสอง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22201/2555
จำเลยทั้งสองต่างแสดงเจตนาเข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของ ณ. อันถือเป็นการค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง แต่ไม่เกินจำนวนที่จำเลยทั้งสองค้ำประกันไว้ การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 60,000 บาท แล้วปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว มิได้ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ด้วย การปลดหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมเพียงเท่าส่วนที่โจทก์ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 แต่หาทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ เพราะหนี้รายนี้ยังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ส่วนที่เหลืออีก 40,000 บาท ซึ่งไม่เกินส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ยังเหลืออยู่
หนังสือสัญญาค้ำประกันระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าวจากโจทก์ ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เบี้ยปรับที่โจทก์เรียกเท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้นสูงเกินไป สมควรกำหนดให้เท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 293, ม. 682 วรรคสอง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที